มาตรวัดความยั่งยืนผ่านมาตรฐานระดับโลก FTSE Russell
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศยกระดับการประเมินความยั่งยืนบริษัทจดทะเบียนไทย จากเดิมที่เคยใช้เกณฑ์หุ้นยั่งยืน (THSI: Thailand Sustainability Investment) หรือที่รู้จักกันในชื่อ SET ESG Ratings เพื่อประเมินและรวบรวมบริษัทเข้ากลุ่มหุ้นยั่งยืน เปลี่ยนมาเป็นดัชนีมาตรฐานสากล FTSE4Good ของ FTSE Russell ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยเน้นประเมินข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยสู่สาธารณะทั้งในและต่างประเทศอย่างโปร่งใส ประเมินหลักทรัพย์กว่า 8,000 แห่งทั่วโลกจาก 47 ประเทศ ซึ่งมีเกณฑ์พิจารณาตัวชี้วัดมากกว่า 300 ด้าน 14 ธีม ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยได้ให้บจ.ในไทย เตรียมความพร้อม 2 ปี ก่อนการประเมิน และจะประกาศผลคะแนน ESG สู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ทรู พร้อมรับมือทุกความท้าทาย ฝ่าด่านประเมินเข้มข้นมาตลอด 8 ปีซ้อน
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "ทรู คอร์ปอเรชั่น เล็งเห็นความสำคัญของการประเมิน FSTE Russell ซึ่งเป็นอีกหนี่งมาตรวัดให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงทรูได้นำข้อเรียนรู้มาพัฒนา ลดความเสี่ยง ตลอดจนสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทรู ได้ศึกษาและเตรียมตัวให้พร้อมกับการประเมิน ESG Score โดย FTSE Russell มานานกว่า 8 ปีแล้ว เนื่องด้วยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดสูง เมื่อเทียบกับบริษัทเทเลคอมทั่วโลก ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงเดินหน้ารักษามาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับสากลที่เข้มข้นนี้ต่อไป หลังจากที่ในปี 2024 ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน FTSE4Good อีกครั้ง ด้วยคะแนนระดับท็อปต่อเนื่องเป็นปีที่ 8"
เจาะลึก "ทรู" ผ่านประเมินเข้ม FSTE4Good 2024
ในปีนี้ นอกจากที่ทรู ผ่านการประเมิน FSTE Russell ที่ได้คะแนนเต็มในมิติด้านธรรมาภิบาลแล้ว ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรู สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12.7% เมื่อเทียบกับเป้าหมาย 12.6% ด้วยการนำเทคโนโลยี AI, Machine Learning มาบริหารจัดการเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ และติดตั้ง Solar Cell มากกว่า 7,000 แห่ง ที่เสาสัญญาณและสถานีฐาน และจะขยายสู่ Data Centers ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ตามแนวทาง SBTi โดยในปี 2567 ทรูได้รับการรับรองเป้าหมาย Near-Term จาก SBTi เป็นรายแรกของบริษัทโทรคมนาคมไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมของตนเองให้ได้ราว 42% ภายในปี 2573 อีกด้วย
ส่วนด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีคุณธรรมและข้อพึงปฏิบัติสำหรับคู่ค้าที่กำหนดให้คู่ค้าต้องบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2567 ทรู เริ่มผลักดันให้คู่ค้าหลัก 62% ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยจะดำเนินการให้ครบ 100% ในปี 2568 ขณะที่มิติด้านสังคม มีนโยบายด้านการบริหารแรงงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติด้านแรงงานสากล อีกทั้ง ยังมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ใช้ภายในองค์กรและกับพันธมิตรทางธุรกิจ สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงกลุ่ม LGBTQI และส่งเสริมแรงงานสตรี พร้อมการดูแลชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา: ทรู คอร์ปอเรชั่น