นอกจากนี้ กรมชลประทานได้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มการระบายท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากระบายวันละ 25 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน เป็น 45 ลบ.ม./วัน จนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 67 ตามแผนปฏิบัติการผลักดันลิ่มน้ำเค็ม (Water Hammer Operation) ไม่ให้น้ำเค็มขึ้นสูงไปถึงสถานีประปาสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อลดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงวันที่ 10 ธ.ค. 67
ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนตามแนวริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง รวมถึงเฝ้าระวังจุดแนวฟันหลอที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน ซึ่งได้เตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบและดำเนินการเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงบริเวณแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่คันกั้นน้ำมีระดับต่ำและไม่สามารถป้องกันน้ำเอ่อล้นได้ ส่วนพื้นที่ชุมชนที่ยังไม่มีแนวป้องกัน หรือแนวฟันหลอและบริเวณที่คาดระดับน้ำอาจจะเอ่อล้น เช่น บริเวณทางขึ้น-ลงท่าเรือ สะพาน ฯลฯ กทม. ได้ดำเนินการเรียงกระสอบทรายทุกจุด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ สำรองกระสอบทรายที่บรรจุแล้วและสำรองกระสอบเปล่าที่พร้อมบรรจุทราย หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขได้ในทันที นอกจากนี้ ยังได้แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงกรณีคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรของประชาชนต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร