สำหรับการประชุมอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2567 ที่ประชุมรับทรายผลการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของคณะอนุกรรมการฯ 2 คณะ คือ 1)คณะทำงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ - ดิน และ สิ่งแวดล้อม และ 2) คณะทำงานด้านการพัฒนาอาชีพ เกษตร ประมง ปศุสัตว์ แบบครบวงจรเพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาในพื้นที่โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ ผลการส่งมอบทรัพย์สินของสถาบันฯด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ (โครงการฝ่าวิกฤตฯ) ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 83 โครงการ มีการส่งมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว 65 โครงการ อยู่ระหว่างประสานการส่งมอบ 10 โครงการ อยู่ระหว่างการซ่อมแซมก่อนส่งมอบ 3 โครงการและอยู่ระหว่างการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุป จำนวน 5 โครงการ
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติงานประจำปีของสถาบันฯ ปีงบประมาณ 2568 พื้นที่ต้นแบบโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและเครือข่าย ผู้ผลิตผักปลอดภัยภาคอีสาน (Cluster ผักปลอดภัย) ให้มีปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง 2) โครงการพัฒนาการผลิตข้าว โดยใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับการผลิตข้าว ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และ3) โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ (Social lab) และแบบแผนการพัฒนาการรายงานผลการบูรณาการเพื่อสนับสนุนงานของสถาบันฯ ของส่วนราชการในพื้นที่โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย จ.กาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และ 2569 เช่น สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ร่วมพัฒนาขอบหนองเลิงเปือย โดยเฉพาะพื้นที่ถมดินและการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของข้าว และผักปลอดภัย สำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมหารือหน่วยงานเพื่อบูรณาการแผนงานและงบประมาณด้านน้ำ และการประกอบอาชีพ ปีงบประมาณ 2568 และ 2569 เป็นต้น
ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการบูรณการแผนงาน งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย โครงการบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับเกษตรกรจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ด้วยการสนับสนุนโรงเรือนปลูกผักให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผักของกลุ่ม เกษตรแปลงรวมบ้านโนนสวาท หมู่ที่ 6 ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
และที่ประชุมยังหารือการกำหนดมาตรฐาน การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ของสถาบันฯ ให้มีองค์ประกอบที่เป็นไปตามมาตรฐานของจังหวัดหรือหน่วยงานทั่วไป เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่มีความเข้มข้น เป็นต้นแบบในการพัฒนาได้อย่างแท้จริง จำนวน 3 ศูนย์เรียนรู้ ได้แก่ (1) กลุ่มปลูกผักโนนเลิง (2) กลุ่มผู้ใช้น้ำ (3) กลุ่มปุ๋ยสั่งตัด ในพื้นที่ถมดิน รับน้ำสถานีนาเรียง 3
ที่มา: สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ