ในโอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้ ว่าที่ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต้อนรับ เข้าร่วมด่วย นางจารีรัตน์ บุญประดิษฐ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี รักษาราชการแทนปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ประชาชน นักท่องเที่ยวและสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ สำหรับการควบคุมโดรนแปรอักษรดำเนินการโดย อาจารย์พิศิษย์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ณ บริเวณลานการแสดง แสง เสียง สะพานข้ามแม่น้ำแคว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้เล็งเห็นถึงเทคโนโลยีโดรนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วน การประยุกต์ใช้โดรนในด้านการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ตั้งอยู่ในภาคกลาง มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีเอกลักษณ์และจุดเด่นนั่นคือธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งผลิตพลังงาน มีสะพานข้ามแม่น้ำแควอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญ เกี่ยวเนื่องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรถไฟสายมรณะเป็นเส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นในช่วงสงคราม และพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดแสดงเรื่องราวของเชลยศึกและประวัติศาสตร์สงครามซึ่งการนำเทคโนโลยี โดรนเข้ามาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวจะทำให้สามารถเผยแพร่ความงดงามและเอกลักษณ์รวมถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรีไปสู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
ว่าที่ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ตามที่นายแพทย์ ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีได้ประสานจังหวัดกาญจนบุรีในเรื่องการนำโดรนมาแสดงในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควและงานกาชาดจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี มอบความสุขให้กับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ชมการแสดงโดรนแปรอักษรที่ยิ่งใหญ่บนแม่น้ำแควและสะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นครั้งแรกจังหวัดกาญจนบุรีโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดแสดงโดรนแปรอักษรระหว่างวันที่ 1 - 4 ธันวาคม 2567 เป็นเวลา 4 วัน แสดงวันละ 2 รอบการแสดงและขอขอบคุณ ประธานมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ในการบินโดรนเพื่อสร้างความสุขและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดกาญจนบุรี
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยว ส่งเสริมเยาวชนในสถาบันการศึกษาและบุคลากร ให้มีส่วนเสริมศักยภาพด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในการใช้โดรนเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ ซึ่งเป็นการผลักดันให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย
ในการนี้ การแสดงบินโดรนเพื่อการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้นำโดรนแปรอักษรมากกว่า 500 ลำ จัดแสดงภาพประกอบเสียงที่สวยงาม เช่น ภาพตัวอักษร "Kanchanaburi" ภาพธงชาติไทยคู่กับธงฝ่ายสัมพันธมิตร ภาพเครื่องบิน B-24 ภาพรถถัง ภาพรถจักรไอน้ำ ภาพสะพานข้ามแม่น้ำแคว ภาพดอกป๊อปปี้สีแดง ภาพสหประชาชาติ ภาพโลโก้จังหวัดกาญจนบุรี โลโก้ อบจ.จังหวัดกาญจนบุรี และภาพโลโก้ อว. วช. เป็นต้น
ทั้งนี้ การแสดงบินโดรนในจังหวัดกาญจนบุรีพร้อมด้วยชุดการแสดงแสง เสียง (Light and Sound) ย้อนรอยประวัติศาสตร์สะพานข้ามแม่น้ำแควสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ใช้ชื่อชุดการแสดง "สะพานข้ามแม่น้ำแคว ตำนานสู่รอยจารึกสู่สันติภาพ" ได้สร้างความประทับใจจากการบินโดรนที่สวยงาม แสงสีเสียงอันน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ การแสดงดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของจังหวัด แต่ยังสร้างประสบการณ์ใหม่ ให้กับผู้เข้าชมได้เป็นอย่างดี นับเป็นผลสำเร็จจากนวัตกรรมการบินโดรนที่สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีอย่างแท้จริง
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)