วันพุธที่ 22 มกราคม 2568 จะเป็นวันสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อคู่รัก LGBTQIAN+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมตามกฎหมาย เป็นการยืนยันความก้าวหน้าทางสิทธิและความเท่าเทียมที่ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนตลอดระยะเวลาหลายปี โดยกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่ยกระดับความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนของชุมชน LGBTQIAN+ ประเทศไทย
และวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 นี้ จะเป็นวันสำคัญ ที่ประเทศไทยถูกบันทึกสถิติโลกไว้ใน"กินเนสส์บุ๊ก"(Guinness World Records) เพราะจะเป็นงานจดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQIAN+ ที่มีจำนวนคู่เยอะที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกถึง 1,000 คู่ แซงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่มีคู่รัก LGBTQIAN+ เข้าร่วมพิธีแต่งงานมากที่สุดในโลกถึง 160 คู่ ในปี ค.ศ.2014 (2557) เพื่อเฉลิมฉลองความก้าวหน้าด้านสิทธิของชุมชน LGBTQIAN+ และเน้นย้ำถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในบราซิล
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน "Bangkok Pride" (บางกอกไพรด์) ผู้เสนอแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน กล่าวว่า "นฤมิตไพรด์ ขอเชิญชวนคู่รัก LGBTQIAN+ มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน เพื่อยืนยันให้เห็นว่าคู่รัก LGBTQIAN+ รอคอยและต้องการสมรสเท่าเทียมมานาน โดยการจดทะเบียนสมรสในวันแรกของการบังคับใช้กฎหมายนี้พร้อมกันทั่วประเทศ เป้าหมายของเราคือ 1,448 คู่ ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับกฎหมายมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ "สมรสเท่าเทียม" แต่โดยส่วนตัวได้ 1,000 คู่ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการยืนยันเจตจำนงในการก่อตั้งครอบครัวแล้ว"
ในโอกาสนี้ "นฤมิตไพรด์" ได้จัดกิจกรรมพิเศษสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ ที่พร้อมจดทะเบียนสมรสในวันแรกของการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะจัดใหญ่ที่ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-19.00 น. โดยคู่รักที่เข้าร่วมงานจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย รวมถึงสิทธิพิเศษสำหรับการเข้าร่วมงานคอนเสิร์ตจากศิลปินหลากหลาย พร้อมทั้งร่วมเฉลิมฉลองกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในชุมชน LGBTQIAN+ และพันธมิตรต่างๆ
งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานสำคัญๆ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ,กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ,กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคม ,กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม ,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคเอกชน อาทิ บริษัท สยาม พิวรรธน์ จำกัด และบริษัท Match Group (MTCH) ที่พร้อมจับมือทุกภาคส่วน เพื่อสร้างวันนี้ให้เป็นก้าวสำคัญของการยอมรับครอบครัวทุกเพศตามกฎหมาย
วาดดาว - อรรณว์ กล่าวต่อว่า "ไฮไลต์กิจกรรมสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 คือ การเฉลิมฉลองวันสมรสเท่าเทียม ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการจดทะเบียนสมรส แต่คือการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่กำลังลบล้างข้อจำกัดทางสังคมที่เคยขวางกั้นความรักที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศหรือเพศสภาพด้วย การที่กฎหมายไทยกำลังยอมรับความรัก การแต่งงาน การสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ เป็นการประกาศชัยชนะของการต่อสู้สิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคที่เรารอคอยมากว่า 20 ปี และการที่เราเชิญชวนคู่รัก LGBTQIAN+ กว่า 1,000 คู่ มาจดทะเบียนพร้อมกันทั่วประเทศในวันแรกที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ในประเทศไทย จะกลายเป็นการยืนยันว่า ความรักไม่มีเงื่อนไข และทุกคนมีสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวในแบบที่พวกเขาเลือกโดยไม่มีการแบ่งแยก"
นอกจากนี้ ในเรื่องของสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่แค่กฎหมายไทยยอมรับความรัก การแต่งงาน การสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ เท่านั้น แต่ยังส่งผลในเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เพราะเรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ให้สิทธิ์ทางกฎหมายแก่คู่รักเพศเดียวกัน และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ต่อจากไต้หวันและเนปาล ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ จากทั่วโลกเข้ามาเที่ยว และมาจดทะเบียนสมรสเป็นจำนวนมากแน่นอน
"ตามการวิเคราะห์ของแพลตฟอร์มท่องเที่ยว Agoda กฎหมายใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ หรือ "Rainbow Tourism" คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคนต่อปี พร้อมสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท และเพิ่ม GDP ของประเทศขึ้น 0.3% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนถึงการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทยในด้านความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลายที่มากขึ้นในเวทีโลกด้วย" วาดดาว - อรรณว์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน โฆษก ของ Tinder กล่าวว่า "Tinder มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการออกเดทของชาว LGBTQ+ เราเปิดรับทุกคนและได้สนับสนุนให้ชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ มากกว่าทศวรรษ Tinder ยังเป็นแอปหาคู่เจ้าแรกที่ได้เพิ่มตัวเลือกการระบุอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศบนแอป ในความเป็นจริงแล้วมีเรื่องราวความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นมากมายทุกปี และมีการจับคู่ Match ของชาว LGBTQ+ เกือบ 7 พันล้านคู่บน Tinder"
"เรามีความตื่นเต้นที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการสมรสเท่าเทียม และภูมิใจที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญนี้ การร่วมมือกันในครั้งนี้ตอกย้ำการที่ Tinder ให้ความสำคัญ และสนับสนุนชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ อย่างต่อเนื่อง"
ขณะที่เอกวิทย์ ชัยวรานุรักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหน่วยธุรกิจสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า "สยามพิวรรธน์ ในฐานะผู้พัฒนาโครงการจุดหมายปลายทางระดับโลก มีความภาคภูมิใจที่ได้ต้อนรับผู้คนมากมายจากทั่วประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลก เราเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม และมุ่งมั่นที่จะให้สถานที่ของเราเป็นศูนย์รวมของคอมมูนิตี้ที่ส่งเสริมและเห็นคุณค่าในทุกความแตกต่าง พร้อมสนับสนุนวันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day) โดยให้พื้นที่ SCBX Next Stage ชั้น 4 สยามพารากอน เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าว เพื่อร่วมจารึกนับถอยหลังสู่กิจกรรมครั้งสำคัญ รวมถึงการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 2568 ณ Paragon Hall ชั้น 5 สยามพารากอน"
สยามพิวรรธน์ขอร่วมแสดงความยินดีกับคู่สมรส LGBTQ+ ทุกคู่ และขอเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในประเทศไทยที่มีส่วนร่วมส่งเสริมให้ความหลากหลายและความเท่าเทียมอยู่เคียงคู่กับสังคมไทยโดยปราศจากการแบ่งแยกและยอมรับทุกความแตกต่างได้อย่างแท้จริง
ที่มา: โพลีพลัส พีอาร์