สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุได้ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได อายุ 60-69 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 850 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 1,000 บาท และตั้งแต่อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,250 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ โดยกรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 1,281,398 คน (ข้อมูล ณ ต.ค. 67) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล เป็นเงิน 7,929,396,000 บาท จำนวน 1,002,948 ราย ผลการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เดือน ต.ค. 67 จำนวน 991,957 ราย เป็นเงิน 655,806,300 บาท
ส่วนกลุ่มคนพิการ ได้ปรับเบี้ยความพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพเป็น 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า โดย กทม. มีจำนวนประชากรคนพิการ 105,493 คน (ข้อมูล ณ 11 ต.ค. 67) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล เป็นเงิน 975,669,000 บาท จำนวน 99,325 ราย ผลการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนสำหรับคนพิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (เดือน ต.ค. 67) จำนวน 99,326 ราย เป็นเงิน 81,631,200 บาท ในด้านการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการตามนโยบายของ ผว.กทม. ได้จ้างงานคนพิการ เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงานทั้งเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง และอาสาสมัคร จำนวน 390 คน (ข้อมูล ณ 21 ต.ค. 67) และจะจ้างงานที่เหมาะสมกับภารกิจและประเภทความพิการให้มากขึ้น ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมความพร้อมขอจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ โดยเบิกจ่ายเงินผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พร้อมทั้งปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสานความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ในการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมาย อาทิ ผู้ที่ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ได้รับสิทธิและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ เพื่อให้การดำเนินการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นไปตามมติ ครม. นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กทม. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการประชุมการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่าง พม. และคณะทำงานด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรีและครอบครัว และกลุ่มเปราะบาง กทม. โดยขอให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และสำนักการแพทย์ (สนพ.) เร่งขับเคลื่อนการสำรวจเด็กที่ตกหล่น เพื่อให้ได้รับสวัสดิการ โดยสำนักงานเขตรับลงทะเบียนเบื้องต้นกรณีผู้มีสิทธิมาแจ้งเกิด และประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้ชุมชนในพื้นที่เขตมีความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว ส่วน สนพ. จะรับลงทะเบียนเบื้องต้น กรณีผู้มีสิทธิมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาล รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการลงทะเบียนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในช่องทางแอปพลิเคชัน "เงินเด็ก" เพื่อลดการตกหล่น เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้ประชาชน
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินงานร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. และสำนักงานเขต 50 เขต เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจนถูกต้องตรงตามกระบวนการขั้นตอนและมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2565 ขณะเดียวกัน กทม. จะประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายในช่องทางต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์และสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตจัดทำหนังสือแจ้งเวียน เพื่อให้ทราบและประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเรื่องสิทธิสวัสดิการต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร