นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. และสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลนักเรียน วิธีการสังเกตอาการของโรค แนวทางป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส และวิธีการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง โดยได้จัดทำแนวทางและแผนเผชิญเหตุ เวียนแจ้งให้โรงเรียนในสังกัดทราบ เพื่อดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการป้องกันโรค รวมทั้งดูแลรักษาและการส่งต่อ ตลอดจนขอความร่วมมือสำนักงานเขตต้นสังกัดโรงเรียนดำเนินการและปฏิบัติตามคู่มือแนวทาง การจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา โดยบูรณาการบุคลากร/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจประเมินการจัดการอาหารและอาหารเสริม (นม) ในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สอดคล้องกับระบบ Thai School Lunch for BMA และควบคุมดูแลให้เป็นไปตามแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การสื่อสารและประสานงานเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสถานพยาบาลในพื้นที่เขตซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน สนับสนุนพื้นที่สถานศึกษาให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-3 พ.ย. 67 จำนวน 79,152 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1,446.6 รายต่อแสนประชากร ยังไม่พบผู้เสียชีวิต และพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะในสถานศึกษา
สำหรับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ที่พบบ่อยคือ โรต้าไวรัสและโนโรไวรัส ซึ่งจะแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ตั้งแต่เดือน ธ.ค. - มี.ค. หากอากาศเย็นจะมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้น ทั้งนี้ โรต้าไวรัสสามารถติดเชื้อได้ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี จะมีอาการเด่นชัด เริ่มจากเป็นไข้ อาเจียน และท้องเสียถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งทำให้ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีอัตราเสียชีวิตต่ำ ปัจจุบันมีวัคซีนในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ โดยเริ่มให้วัคซีนตั้งแต่อายุ 2 เดือน ให้ 2-3 ครั้ง จนครบอายุ 6 เดือน เพื่อลดความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม เชื้อดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลาและพบการระบาดได้ ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้ แต่ความรุนแรงจะน้อยลง เนื่องจากมีภูมิต้านทานจากวัคซีน ส่วนโนโรไวรัสพบการระบาดทุกปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อาการของโรคคล้ายกับอาหารเป็นพิษและเกิดเป็นกลุ่มก้อนได้โดยเฉพาะในโรงเรียน โรคดังกล่าวไม่มียารักษา สามารถรักษาด้วยการประคับประคองไม่ให้ขาดน้ำ โดยปกติอาการจะดีขึ้นใน 2-3 วัน
การรักษาผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) เพื่อป้องกันภาวะช็อกและเสียชีวิตจากการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย เนื่องจากมีน้ำตาลปริมาณสูงจะดึงเอาน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ลำไส้บีบตัว และอาจเกิดอาการอุจจาระร่วงมากขึ้น หากไม่มีสารละลายเกลือแร่ สามารถทำได้เองโดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแกงครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำสะอาด 750 ซีซี จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ สนอ. ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงประชาชนเกี่ยวกับวิธีการสังเกตอาการของโรค แนวทางป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและลดการแพร่ระบาดของโรค
ที่มา: กรุงเทพมหานคร