นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองผู้อำนวยการด้านมาตรฐานฟาร์มและข้อกำหนดลูกค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าว ในการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 46 ประจำปี 2567 (The International Conference on Veterinary Sciences 2024 : ICVS 2024) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า การเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความต้องการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และแรงกดดันด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเพิ่มผลผลิต การรักษาสิ่งแวดล้อม และการดูแลสัตว์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
บริษัทผู้ผลิตอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ตระหนักดีถึงการเปลี่ยนผ่านการเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิม สู่การทำฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) โดยยึดแนวทางความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์ "Sustainable Animal Welfare" มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มและกระบวนการผลิตอาหาร โดยคำนึงถึงสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป็นหัวใจสำคัญ
การประยุกต์ใช้แนวคิดความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์ให้สุขสบายไม่เครียด มีชีวิตตามธรรมชาติ ลดโอกาสเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ (Five Freedoms) ไม่เพียงช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตสัตว์และทำให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดีขึ้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรน้ำ และวัตถุดิบอาหารสัตว์เช่น ข้าวโพด ในกระบวนการผลิต เกษตรกรที่นำหลักการนี้ไปใช้ยังสามารถลดต้นทุนในระยะยาวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความยั่งยืนให้กับครอบครัวได้อย่างดี
"บริษัทเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลก ตระหนักดีถึงความเชื่อมโยงระหว่างสวัสดิภาพสัตว์ คุณภาพ ความปลอดภัยอาหารและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านจากระบบการเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิม สู่ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าทั้งสำหรับสัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้" นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าว
นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนกรอบความคิดดั้งเดิมสู่กรอบความคิดใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น ระบบ Internet of Things (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), และเซ็นเซอร์อัตโนมัติในกระบวนการจัดการฟาร์มแบบ Smart Farm พร้อมด้วยหลักการความแม่นยำและเรียลไทม์ จะเกิดประโยชน์ในการ่ช่วยติดตามสุขภาพสัตว์ (Health Status) การจัดการอาหารสัตว์ และ เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่สบาย ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด ลดความเครียด ป้องกันโรคระบาด ยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีสู่ระดับสากล และลดการใช้พลังงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อ
สิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำข้อมูลจากการจัดเก็บในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ใน I cloud จากระบบดังกล่าวมาวิเคราะห์ ประมวลผล และคาดการณ์ล่วงหน้า (Predictive Management) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการจัดการฟาร์มในอนาคต
นอกจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าอาหารยังมีเงื่อนไขการนำเข้าด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ ซึ่ง ซีพีเอฟ ได้ประกาศเป้าหมายขับเคลื่อนการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ต้องมาจากแหล่งเพาะปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบย้อนกลับได้ การตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ "Zero Deforestation" ภายในปี 2568
ความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์ จะเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่จะส่งเสริมการสร้างอาหารมั่งคงอย่างยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับทุกคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เอื้อประโยชน์ให้เกิดความสมดุลระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันในอนาคตโดยไม่เบียดกันได้อย่างยั่งยืน./
ที่มา: Charoen Pokphand Foods