ผศ. พญ.ธัญญา เดชะพิเชฐวณิช ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ Mr. Kim IL CEO บริษัท SurgicalMind พร้อมทั้งร่วมลงนาม MOU เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอนแพทย์ในการทำหัตถการบนใบหน้าของผู้ป่วย ณ อาคารศูนย์วิจัยทางการแพทย์ (SIMR) ชั้น 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการสนับสนุนของคณะฯ ในการให้ความสำคัญของการเรียนการสอนแพทย์ว่า "หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คือด้านการเรียนการสอน เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านสุขภาพ ตลอดจนผลิตบัณฑิต บุคลากรด้านสุขภาพ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตให้มีคุณภาพ คุณธรรม ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร ในอดีต เราใช้ร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้และฝึกการทำหัตถการกับผู้ป่วย ก่อนที่จะไปทำหัตถการกับคนไข้จริง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญในการทำหัตถการ ดังนั้น เราจึงหาวิธีที่จะให้นักศึกษาฝึกทักษะเหล่านี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
ศ. ดร. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา และหัวหน้าศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงความจำเป็นในด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน Facial Anatomy ในแพทย์ที่ทำหัตถการบนใบหน้าว่า "แต่เดิมนั้น นักศึกษาแพทย์จะลองฝึกหัตถการบนเปลือกผลไม้ ด้วยการฝึกการใช้มีดลอกเปลือกมะเขือเทศเป็นชั้นๆ โดยที่ผลเนื้อในยังคงความสวยงาม ไม่เป็นรอยช้ำ ซึ่งถือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า Fruit lab จากนั้นก็เริ่มฝึกทักษะฉีดยากับหุ่นจำลองทางการแพทย์ ซึ่งหุ่นจำลองดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในการผลิตขึ้น โดยมีการจำลองผิวหนังเทียมเสมือนกับผิวหนังของร่างกายคน ก่อนที่จะฝึกการทำหัตถการบนร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งในแต่ละเดือนจะใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ เพื่อหัตถการด้านเสริมความงามด้วย Botulinum Toxin และสารเติมเต็มมากกว่าเดือนละครั้ง และในการทำหัตถการแต่ละครั้งจะใช้เพียงเฉพาะใบหน้าเท่านั้น ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองร่างอาจารย์ใหญ่ ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่าเราควรใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ในการฝึกหัตถการอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด มากกว่าการทำหัตถการเพื่อความสวยงาม เราพยายามคิดค้นหาวิธีพัฒนาขีดความสามารถวงการแพทย์สู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2562 ได้มีโอกาสรู้จักกับบริษัท SurgicalMind เป็นบริษัทผลิตเกมส์จากประเทศเกาหลีและต้องการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ มาร่วมกันออกแบบโปรแกรมนี้"
Mr. Kim IL CEO บริษัท SurgicalMind กล่าวว่า "เราร่วมออกแบบโปรแกรม Anatomy 2D-3D เพื่อการเรียนการสอน Anatomy และฝึกฝนการทำหัตถการ โดยเริ่มจากการทำโปรแกรม Anatomy ในระบบ 2D และพัฒนามาเป็นแบบ 3D มองเห็นรอบทิศทาง 360 องศา แสดงผลสาธิตแยกชิ้นส่วนของใบหน้าเป็นชั้น ๆ แบบเดียวกับการ Dissection ร่างอาจารย์ใหญ่ ทำให้การเรียนการสอนง่ายขึ้น โดยไม่สิ้นเปลืองร่างอาจารย์ใหญ่ ล่าสุดได้มีการพัฒนาโปรแกรมด้วยการนำเทคโนโลยี Mixed Reality (MR) โดยนำจุดเด่นของเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) รวมเข้าด้วยกัน ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะหัตถการเสมือนจริง โดยใช้อุปกรณ์แว่นตา Hologram เป็นสื่อกลางที่จะช่วยมองเห็นวัตถุเสมือน ที่แสดงผลแบบ 3 มิติ ได้ในพื้นที่จริงคล้ายกับภาพ Hologram ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เสมือนจริง นอกจากนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาหุ่นจำลองในการทำหัตถการบนใบหน้าของผู้ป่วย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาคาดว่าจะนำมาใช้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปี ข้างหน้า"
อย่างไรก็ตามโปรแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรมออนไลน์จึงจะผลักดันให้เกิดการต่อยอดขยายองค์ความรู้ไปสู่ระดับสากล และนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้นักศึกษา ม.มหิดลสามารถใช้เรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังวางแผนพัฒนาไปสู่รูปแบบของเกมออนไลน์ ให้นักศึกษาได้รับความสนุกไปพร้อมการเรียนรู้อีกด้วย
โปรเจคต์นี้จะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่และเป็นโอกาสในการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณค่าที่มากกว่าการให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัยและนวัตกรรม และการบริการทางการแพทย์ ผลิตบัณฑิต บุคลากรทางการแพทย์สู่สังคมและเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก
ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล