เรียนรู้มุมมองของยุวศิลปินไทยรุ่นใหม่ กับแนวคิด Learn to Earn ในงานด้านศิลปะ

พุธ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ ๑๓:๑๖
มูลนิธิเอสซีจี เดินหน้าส่งเสริมแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้มีโอกาสต่อยอดทักษะและความสามารถ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill มาใช้พัฒนาตนเองในแต่ละบริบทของสถานการณ์เพื่อให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะในแวดวงงานศิลปะ ในโครงการต่างๆ เช่นโครงการ "ยุวศิลปินไทย" หรือ Young Thai Artist Award เพื่อให้ศิลปินรุ่นเยาว์ได้มีพื้นที่แสดงผลงานเพื่อจะเป็นฐานและโอกาสที่จะได้พัฒนาความสามารถด้านศิลปะ เพื่อก้าวเข้าสู่วงการงานด้านศิลปะอย่างเต็มตัว โดยปีนี้ เป็นโอกาสพิเศษครบรอบ 20 ปี และได้ใช้วาระความพิเศษนี้ พูดคุยกับยุวศิลปินน้องใหม่เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรมและสาขาภาพยนตร์ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิด Learn to Earn และการใช้ทักษะทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ในการทำงานศิลปะของตนเอง
เรียนรู้มุมมองของยุวศิลปินไทยรุ่นใหม่ กับแนวคิด Learn to Earn ในงานด้านศิลปะ

อติรุจ ดือเระ เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม Young Thai Artist Award ประจำปี 2567 จากผลงาน "เริงรำและร่ำไห้ในรั้วบ้านเดียวกัน" เล่าว่าตนเองเป็นคนชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่คิดมาก่อนว่างานเขียนจะส่งผลกับชีวิตตนเอง และกลายเป็นอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ทั้งงานประจำและงานเสริม ล้วนแต่เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านการเขียนด้วยกันทั้งคู่ สำหรับการทำงานในแวดวงหนังสือและการขีดเขียนนั้น อติรุจมองว่าจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญๆ 3 ทักษะด้วยกัน นั่นคือ ทักษะด้านการเขียน ซึ่งเป็น Hard Skill ที่สำคัญ เพราะจะทำให้เรานำหน้าคนอื่นไปหนึ่งก้าว อีกสองทักษะที่จำเป็นคือทักษะ Soft Skill ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นกับทุกคนและทุกวัย อีกทักษะที่มองว่าจำเป็นคือเรื่อง empathy เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ควรมีและตัวเองก็พยายามฝึกให้มี เพราะการที่เราเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่คนอื่นต้องเผชิญ ทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและมีความรู้สึกว่าอยากช่วยพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนทักษะ empathy ของตนเองนั้น จะออกมาในรูปของการเขียน หรือการร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือ เพราะการลงมือทำแม้เพียงน้อยนิด ไม่ได้เพียงแต่ทำให้ใจเราเป็นสุขแต่จะทำให้โลกใบนี้มีความน่าอยู่มากขึ้น

สำหรับแนวคิด Learn to Earn นั้น อติรุจมองว่ามีความสำคัญทั้งการเรียนรู้และการเก็บทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ AI กำลังเข้ามาท้าทายเราในหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้หรือทำได้แต่ยังไม่ดีมากพอ คืองานสร้างสรรค์ งานศิลปะ งานเขียนที่มีคุณภาพ ดังนั้นการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้านงานเขียนอยู่เสมอ จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราอยู่รอดได้ท่ามกลาง AI ที่กำลังพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนมนุษย์หรือเหนือกว่ามนุษย์ ดังนั้นตนจึงมองว่า โจทย์สำคัญในมุมมองของตนเองคือมนุษย์จะเอาตัวรอดอย่างไรจากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา อติรุจมีความคุ้นเคยกับเวทีประกวดมาเป็นเวลานาน เพราะเข้าสู่การประกวดตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่แม้ว่าจะต้องพบกับความผิดหวังมานานหลายปี แต่กลับรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า ทักษะการเขียนของเขามีการพัฒนาขึ้นทุกครั้งที่ส่งผลงานเข้าประกวด และกล่าวได้ว่าทุกเวทีที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดต่างก็เป็นครูที่สอนให้ได้ learn จากคอมเมนท์ที่ได้รับ และนำมาพัฒนาทักษะฝีมือการเขียน จนสามารถ earn ความสำเร็จได้ในวันนี้จากรางวัลยุวศิลปินไทย

"เริ่มส่งงานเข้าประกวดมาตั้งแต่เด็กๆ ใช้ความพยายามอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการเขียนเท่านั้นแต่ยังต้องมีความพยายามในการส่งผลงานประกวดอีกด้วย เพราะอยู่ต่างจังหวัดจะส่งผลงานแต่ละครั้งต้องเดินทางไปไปรษณีย์ที่อยู่ไกลจากบ้านมาก ทุกครั้งที่ส่งผลงานเข้าประกวดก็จะคิดเสมอว่าหากได้รางวัลก็ดี แต่ถ้าไม่ได้รางวัล การเข้าร่วมประกวดก็เป็นหนทางที่จะพัฒนาทักษะของตัวเราเอง"

อติรุจยังให้กำลังใจเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความกล้าก้าวออกจาก comfort zone เพื่อท้าทายตัวเองในเรื่องใหม่ๆ เพื่อให้รู้จักตัวเองได้มากขึ้น พร้อมทั้งเชิญชวนให้มาลองทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง ไม่ต้องถึงขั้นต้องได้รางวัล แต่ทำเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง เพราะคอมเมนท์ที่จะได้รับนั้นจะดีต่อตัวเราและสามารถนำมาใช้พัฒนางานเขียนชิ้นต่อๆ ไปได้เป็นอย่างดี พร้อมกับแสดงความขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยธำรงให้ศิลปะยังคงเป็นงานที่เติบโตและงอกงามอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้

กัลปพฤกษ์ ติยะจามร บัณฑิตป้ายแดงจากรั้วพระจอมเกล้าลาดกระบัง เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ Young Thai Artist Award ประจำปี 2567 จากผลงาน "ไม่มีน้ำตาสำหรับคนยโส" เล่าให้ฟังว่าตนเองชอบและสนใจเกี่ยวกับการทำภาพยนตร์อยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสได้ทำหนังสั้นตอนที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้ทราบว่าความชอบนี้สามารถทำเป็นอาชีพได้ เลยให้ความสำคัญและจริงจังที่จะเรียนรู้เรื่องการผลิตภาพยนตร์มากขึ้น เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนด้านนี้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าชอบหรือถนัดงานส่วนไหนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นพิเศษ แต่ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ยืนอยู่บนอุตสาหกรรมนี้ในตำแหน่งใดๆ สักวันหนึ่งในอนาคต

"ตอนเรียนได้เรียนทั้งส่วนของทฤษฎี แนวคิด และการปฏิบัติ การใช้เครื่องมือต่างๆ ได้นำทักษะความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาใช้กับสิ่งที่เราอยากเล่า ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบเรื่องราวทางสังคม โดยเฉพาะสังคมของคนภาคอีสานกับประเด็นปัญหาที่ต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เริ่มจากการมองตัวเองที่เป็นคนขอนแก่นแต่ต้องมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ พร้อมกับคำถามว่ามาทำไม? จากนั้นก็เก็บข้อมูลจากคนภาคอีสานด้วยกัน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ใช้ความรู้จากที่ได้เรียนมาทั้งกระบวนการของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถอดความคิด และเขียนออกมาเป็นตัวอักษรก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้คนชมได้เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกมา และใช้ทักษะจากที่เคยมีประสบการณ์จากการออกกองถ่ายมาก่อน มาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการถ่ายทำ ทำให้การทำงานครั้งนี้ค่อนข้างจะราบรื่น"

การก้าวสู่ความสำเร็จของกัลปพฤกษ์ในวันนี้ เกิดจากการได้ลงมือทำจริงหลังจากที่ได้ learn แล้ว จนสามารถ earn ความสำเร็จที่ถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นชีวิตศิลปิน ภารกิจของเธอต่อจากนี้ไปคือการหาช่องทางที่จะก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์และจุดที่จะยืนในวงการเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป
กัลปพฤกษ์ยังบอกอีกว่า ตนเองได้ให้ความสำคัญกับการสังเกตคนหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งทักษะด้านการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานี้ มองว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เพราะการที่ได้มองรอบตัวเรานั้นจะพาไปสู่เรื่องใหม่ๆ ได้ เป็นการเปิดโลกและมุมมองให้กว้างมากขึ้น ซึ่งการหมั่นเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีแล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิด Learn to Earn ที่มุ่งเน้นให้คนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ดีแม้ว่าโลกปัจจุบันจะหมุนไปอย่างรวดเร็ว และหลายๆ คนก็ใช้ชีวิตหรือทำอะไรกันแบบรวดเร็วไปหมด แต่เธอกลับมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องวิ่งตามโลกด้วยความเร็วที่เท่ากัน เพราะการใช้ชีวิตให้ช้าลง ดูมือถือให้น้อยลง จะทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้มากขึ้น ทำให้มีเวลาสังเกตในรายละเอียด มีเวลาคิดและไตร่ตรองทุกอย่าง และทำให้มีสติมากขึ้น เมื่อจะลงมือทำอะไรก็ตาม ก็จะทำได้อย่างมีสติและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น

เรียนรู้มุมมองของยุวศิลปินไทยรุ่นใหม่ กับแนวคิด Learn to Earn ในงานด้านศิลปะ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๑๗:๑๖ กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๑๗:๕๕ Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๑๗:๔๗ โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๑๗:๑๒ ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๑๗:๐๐ กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๑๖:๐๐ WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๑๖:๐๔ เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๑๖:๔๗ ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๑๖:๐๒ NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ