นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT เปิดเผยถึงแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2567 ว่า จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาเป็นบวก และแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ที่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าในปีนี้บริษัทจะทำรายได้รวมจำนวน 2,804 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) ซึ่งมีลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) บริษัทเอกชนทั่วไป และตลาดส่งออก รวมมูลค่า 2,590 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลง (Non-Transformer) เช่น แบตเตอรี่ลิเธียม, รถกระเช้า, รถเครน, และตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า มูลค่า 214 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำรายได้ 2,330.71 ล้านบาท ถือว่าเติบโตมากที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลยุทธ์สำคัญเกิดจากการบริหารงานและการกระจายการรับรู้รายได้ให้สม่ำเสมอในทุกไตรมาส เฉลี่ยไตรมาสละ 600 ล้านบาท รวมถึงการบริหารจัดการภายใน การเพิ่มประสิทธิภาพ และการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มงานภาครัฐ ภาคเอกชน และการส่งออก บริษัทยังมียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567 มูลค่า 1,459 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายที่เตรียมส่งมอบและรับรู้รายได้ในปีนี้ 548 ล้านบาท ในปี 2568 มูลค่า 879 ล้านบาท และในปี 2569 มูลค่า 14 ล้านบาท
"บริษัททำผลการดำเนินงานได้ดีที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา และเป็นการเติบโตสวนภาวะตลาด ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาวะชะลอตัวประมาณ 10% ซึ่งอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมเราได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ น้อยกว่าธุรกิจอื่น" นายสัมพันธ์ กล่าวและว่า
ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทยังคงกลยุทธ์การบริหารให้ทุกไตรมาสมีรายได้เท่ากัน เพื่อรักษาระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในปี 2567 เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้ายังมีความผันผวน และมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท เช่น ภาวะสงคราม รวมไปถึงนโยบายการค้าของชาติมหาอำนาจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะวางเป้าหมายรายได้ให้ใกล้เคียงกับปี 2567 แต่ด้านอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) บริษัทคาดว่าจะทำอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้มากกว่า 20% โดยจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภายใน การปรับปรุงกระบวนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในโรงงาน รวมถึงซัพพลายเชนต่าง ๆ เพื่อช่วยในการบริหารต้นทุนให้ต่ำลง แต่ทำอัตรากำไรได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จะบริหารกระแสเงินสดและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย รวมถึงอยู่ระหว่างการติดตามงานประมูลเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,555 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสที่จะประมูลสำเร็จและได้ทำงานประมาณ 20-25%
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเดินหน้าขยายตลาดส่งออกเพิ่ม ไปยังกลุ่มประเทศในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น อังกฤษ และเยอรมนี จากปัจจุบันที่ส่งสินค้าออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2568 จะเห็นสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าภาครัฐ กลุ่มลูกค้าเอกชน และตลาดส่งออกให้มีสัดส่วนที่เท่ากัน จากปัจจุบันรายได้หลักมาจากกลุ่มลูกค้าภาครัฐประมาณ 80% และภาคเอกชนประมาณ 20%
ด้านนายกานต์ วงษ์ปาน เลขานุการบริษัท และผู้จัดการฝ่ายการเงินบัญชีและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบ 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 2,330.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 1,389.81 ล้านบาท มีรายได้จากการขายและบริการ 2,284.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 1,370.90 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) 554.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 322.80 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 24.27 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 23.55
"จะเห็นว่าผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมดีที่สุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2564 ที่มีรายได้รวม 2,047.84 ล้านบาท และจากอัตรากำไรขั้นต้นที่มากกว่าร้อยละ 20 ส่งผลให้มี EBITDA จำนวน 412.55 ล้านบาท EBIT จำนวน 376.68 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 244.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ร้อยละ 10.51 สูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน" นายกานต์ กล่าว
สำหรับรายได้รวมช่วง 9 เดือนแรก แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มกลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า และตลาดส่งออก รวมมูลค่า 2,135 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลง (Non-Transformer) เช่น รถกระเช้า, รถเครน, และตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า มูลค่า 196 ล้านบาท
ที่มา: FourHundred