นายดิษทัต กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดย โออาร์ จะร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ขณะที่ บสย. จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจ ทั้งนี้ ความสำเร็จของธุรกิจสถานีบริการพีทีที สเตชั่น ไม่ได้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์หรือความทุ่มเทของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีแหล่งทุนที่มั่นคงและเชื่อถือได้เป็นแรงขับเคลื่อน ซึ่ง บสย. ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็น เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างโอกาสทางธุรกิจและส่งเสริมความยั่งยืนของเศรษฐกิจโดยรวม ช่วยให้ธุรกิจในท้องถิ่นเติบโต เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และเพิ่มความมั่นคงในชีวิตของประชาชน นำไปสู่การสร้างสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือครั้งนี้ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจหลักของ โออาร์ ได้แก่ กลุ่มบัตรเติมน้ำมันสำหรับนิติบุคคล (Fleet Card) กลุ่มสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั้งรายใหม่และรายเดิม กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ คาเฟ่ อเมซอน และกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าในสถานีบริการ โดย บสย. พร้อมสนับสนุนวงเงินค้ำประกันสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยรักษาการจ้างงานกว่า 4,300 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,600 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทาง OR SDG โดยเฉพาะในด้าน "Small" ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนตัวเล็ก และ "Diversified" ที่มุ่งสร้างการเติบโตร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ โออาร์ พร้อมขับเคลื่อนทั้งธุรกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เดินหน้าไปได้พร้อมกัน อย่างยั่งยืน นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย
ที่มา: ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก