ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า 21 ปีที่ผ่านมา นาโนเทคเติบโตอย่างมั่นคง มีกำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยีที่ทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง มีกำลังคนสายงานสนับสนุนที่เป็นกำลังเสริมในด้านต่างๆ เพื่อนำนวัตกรรมส่งถึงมือผู้ใช้
"เสื้อนาโน มุ้งนาโน โลชั่นกันยุงนาโน SOS Water เครื่องผลิตน้ำพลังแสงอาทิตย์ หรือไข่ออกแบบได้" นวัตกรรมในยุคแรกๆ ของนาโนเทค ที่มีการต่อยอดทั้งในเชิงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน รวมถึงเชิงสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงภาวะฉุกเฉิน ก่อนขยับสู่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเดิม เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ผู้ใช้ต้องการ อาทิ เวชสำอางจากพืชสมุนไพรต่างๆ อาทิ เห็ดหลินจือ หรือกลุ่ม Herbal Champion, แผ่นกรองอากาศต้านเชื้อราแบคทีเรีย หรือการตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาทิ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test), หมวกแรงดันบวก- ลบ ลดการแพร่เชื้อหรือสารฆ่าเชื้อต่างๆ" ดร. อุรชา ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าวพร้อมย้ำว่า นาโนเทค2025 เราจะ "รุก" ให้มากขึ้น
นาโนเทค สวทช. ในปี 2568 จะเดินหน้าตามแนวคิด Innovate, Collaborate and Grow ที่จะให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัย คือ นวัตกรรม, ความร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า 4 Strategic Focus (SF) หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (improve quality of life) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยนาโนเทค ที่มุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสริมแกร่งความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร, ชุดตรวจสุขภาวะ, เกษตรและอาหาร และ น้ำและสิ่งแวดล้อม
ดร. อุรชาเผยว่า ในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ เราจะเห็นผลงานต่างๆ ของแต่ละ SF ถึงมือผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก SF สารสกัดสมุนไพรที่สารสกัดกระชายดำสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3 บริษัท สร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ระดับสากล พร้อมตั้งเป้าต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่คาดว่าจะใช้สารสกัดสมุนไพรเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับ SF ชุดตรวจสุขภาวะ ที่จับมือพันธมิตรสำคัญอย่างสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ผลักดัน "ชุดตรวจคัดกรองโรคไต" เข้าสู่ระบบร้านยาของรัฐ และเตรียมขยายสู่ชุดตรวจทางการแพทย์อื่นๆ รวมไปถึงตลาดใหม่อย่างการวิจัยและพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง
ด้าน SF น้ำและสิ่งแวดล้อม นอกจากเรื่องน้ำสะอาดที่นาโนเทควิจัยพัฒนาระบบกรองน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับชุมชน และขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการคุณภาพน้ำสู่ผู้ใช้ประโยชน์หลายพื้นที่ในไทย ยังมีเรื่องของ วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ หรือ Metal Organic Frameworks (MOFs) เป็นวัสดุดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประสิทธิภาพสูง และการแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 conversion) ในภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นปิโตรเคมี ที่นาโนเทคมีความร่วมมือกับเอกชนยักษ์ใหญ่หลายราย เพื่อสอดรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
SF เกษตรและอาหาร มุ่งเป้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเฉพาะด้านการขจัดความอดอยาก (SDG 2) และนโยบายของภาครัฐด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เริ่มจาก "ไข่สุขภาพหรือไข่โอเมก้า-3" เป็นนวัตกรรมยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง และปุ๋ยคีเลตหรือสารคีเลตจุลธาตุอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยหลัก ลดการสูญเสียธาตุอาหารและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"นอกจากผลงานที่จะเห็นจาก 4SF นาโนเทค 1 ปีจากนี้ จะมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชุมชนด้วยแนวคิด innovation solution ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมนาโนเทคให้มากที่สุด, ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ และบัวบก รวมถึงจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ 2 บริษัท ในด้านสมุนไพรและการแพทย์ สุดท้ายปลายทางคือ เราคาดหวังจะเพิ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หน่วยงาน หรือชุมชนที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ วางโจทย์ไว้ว่า จะเพิ่ม 5% จากจำนวนผู้ที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ 2580 ราย 67 องค์กรในปี 2567" ดร. อุรชากล่าว
ผู้อำนวยการนาโนเทคย้ำว่า นอกจากการเชื่อมโยงโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน ประชาชนแล้ว นาโนเทคยังทำงานสอดรับกับนโยบายรัฐบาลทั้งในแง่ของนโยบายเร่งด่วนด้านของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs และการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและราคาพืชผลเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร และนโยบายของภาครัฐในระยะกลาง-ยาว ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ และเดินหน้าคู่ขนานกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย
ที่มา: กลอรี่ แบรนดิ้ง