นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า มีเด็กเกิดใหม่เหลือเพียง จำนวน 485,085 ราย ต่ำที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดน้อยกว่าการตาย เท่ากับว่า จำนวนประชากรของไทยลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน นับจากปี 2564 นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราเจริญพันธุ์รวม (หรือค่า TFR : Total Fertility Rate) ของประเทศไทยลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนและมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก หากประเทศไทยไม่มีการออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ จำนวนประชากรที่ลดลง อาจหมายถึงจำนวนแรงงานที่น้อยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การจัดเก็บภาษีรายได้ที่ลดลง ภาระทางด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของประเทศ และการเพิ่มขึ้นของอัตราการพึ่งพิง หรือภาระของประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์
"กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าโครงการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ โดยในปี 2568 นี้ ให้ความสำคัญ เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนมีคู่และก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงบริการส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง คือ 1) ส่งเสริมคนโสดและคนที่มีคู่ ได้ตรวจคัดกรองสุขภาพและได้รับการให้คำปรึกษา เพื่อวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ อาทิ คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเสพสารเสพติด บริการให้คำปรึกษาและคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก และการคุมกำเนิด โดยสามารถรับบริการได้ ที่คลินิกส่งเสริมการมีบุตร ระดับที่ 1 ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัด / กระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตร และลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ 2) ผลักดันให้มีโรงพยาบาลที่จัดบริการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูกโดยตรง หรือ IUI ได้ครบทุกจังหวัด และ 3) ให้มีโรงพยาบาล สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จัดบริการ การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ IVF ได้ครบทุกภาค" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยเป็นอีกหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว มีเป้าหมาย คือ 1) ผลักดันให้ประเด็นส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 2) ส่งเสริมการจัดบริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หลังจากทุกฝ่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อน การดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสารณสุข ผลการดำเนินงานการจัดตั้งคลินิก ส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครบทุกแห่ง จำนวน 901 แห่ง โรงพยาบาลที่จัดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IUI (การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก) จำนวน 83 แห่ง ใน 58 จังหวัด และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการ IVF (การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
"ทั้งนี้ ในปี 2567 มีผู้เข้ารับบริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จำนวน 16,909 คน และจำนวนตั้งครรภ์สะสม จำนวน 433 ราย นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตรระดับที่ 1 และระดับที่ 2 รวมจำนวนกว่า 2,800 คน และการผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ กรมอนามัย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ Nurse case manager คลินิกส่งเสริมการมีบุตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร โดยมีท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาให้ความรู้และฝึกทักษะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง มีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 140 คน ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการมีบุตรจากศูนย์อนามัย และจากพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 11 - 12" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย