"พาณิชย์" เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ "มะพร้าวน้ำหอม สามพราน" สินค้าภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น รสชาติดี หอมหวาน ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคคนไทยและต่างชาติ สร้างชื่อเสียงและรายได้สู่เกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืนนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง" ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน "มะพร้าวน้ำหอมสามพราน" เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 2 ของจังหวัดนครปฐม ต่อจากส้มโอนครชัยศรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้
"มะพร้าวน้ำหอมสามพราน" สินค้า GI ตัวใหม่ลำดับที่ 2 ของจังหวัดนครปฐม เป็นสินค้ายอดนิยม ที่สร้างความภาคภูมิใจ ชื่อเสียง และรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ "มะพร้าวน้ำหอมสามพราน" ปลูกในพื้นที่ราบลุ่มของแม่น้ำนครชัยศรี ในช่วงปีน้ำหลากพบดินตะกอนทับถม นำพาแร่ธาตุต่างๆ มาสะสมไว้จนชาวบ้านเรียกว่า "น้ำไหลทรายมูล" ทำให้ดินในพื้นที่มีเนื้อเหนียวสีน้ำตาล ดินชั้นบนมีลักษณะทับถมเป็นชั้นๆ ดินชั้นล่างเป็นสีน้ำตาล ปนเหลือง ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์ส่งผลให้มะพร้าวน้ำหอม มีเปลือกสีเขียวปนเหลือง เนื้อสีขาว นุ่ม น้ำมะพร้าว มีรสชาติหวาน และกลิ่นหอมคล้ายใบเตย หลังจากนั้นได้มีการนำมะพร้าวน้ำหอมไปปลูกในพื้นที่อำเภอสามพราน ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาของเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่น จนมีการขยายพันธุ์อย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นอีกหนึ่งสินค้า ที่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าส่งออกและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคคนไทยและต่างชาติ รวมถึงมีการออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้าตามงานต่างๆ จนโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สร้างชื่อเสียงและรายได้สู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครปฐมกว่า 572 ล้านบาทต่อปี
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทย อย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ทั้งนี้ กรมฯ ขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368
ที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญา