ขณะเดียวกันยังเปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด High dose โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้มีสิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงต้นสังกัด กทม. และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด High dose เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึง 27 ธ.ค. 67 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ นักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 น. - 16.00 น. ณ BKK Wellness Clinic รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ UMSC หรือ ทาง https://shorturl.asia/EDSs6
นอกจากนี้ สนพ. ได้บูรณาการโรงพยาบาลร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน หากพบการระบาดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พร้อมเน้นย้ำให้โรงเรียน สถานศึกษา หมั่นทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล จัดระบบการระบายอากาศ ให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ รวมทั้งเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของโรคติดต่อ พร้อมแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เมื่ออากาศเย็นลง ได้แก่ รับประทานอาหารที่ปรุง สุก ใหม่ ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รับประทานผัก ผลไม้ และสมุนไพรรสเปรี้ยวบรรเทาอาการไอทำให้ชุ่มคอ รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ควรดื่มเหล้าแก้หนาว เพราะอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และสวมเสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้า เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน แต่หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม และหากต้องการพบแพทย์ สามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine หรือแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ต.ค. 67 มีรายงานผู้ป่วย 78,616 คน ผู้เสียชีวิต 3 คน จากรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลในปี 67 ตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงกว่าปี 66 คิดเป็น 1.31 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอัตราผู้ป่วยสูงสุด คือ เด็กวัยเรียน อายุ 5 - 9 ปี ส่วนการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจำ และสถานปฏิบัติธรรม และสายพันธุ์ที่พบมีทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B
ทั้งนี้ สนอ. ได้เตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนให้กับคนไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป(ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี) เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และยังมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก ซึ่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในช่วงเดือดน พ.ค. - ส.ค.
ที่มา: กรุงเทพมหานคร