ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 นั้น
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบดังกล่าวและได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับรัฐบาลตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวนทั้งสิ้น 21 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 136.1 เมกะวัตต์ (165 เมกะวัตต์ติดตั้ง) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี
โดยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) เท่ากับ 2.1679 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตลอดอายุสัญญา มีมูลค่าการลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯยังมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเฟส 3 ที่จะมีขึ้นในปี 2568 ด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ วางเป้าไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์
"การได้รับคัดเลือกประมูลในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ2 ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำพลังงานสะอาดของกลุ่มบริษัทฯ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) สนับสนุนผลการดำเนินงานเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน"
ปัจจุบัน TSE มีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 41 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 241.86 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 34 โครงการ และโครงการที่ยังไม่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 7 โครงการ และเมื่อรวมกับผลการชนะการประมูลในครั้งนี้อีก 136.1 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทฯกำลังการผลิตรวมทั้งหมดเป็น 377.9 เมกะวัตต์เสนอขาย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TSE กล่าวอีกว่า กลุ่มบริษัทฯยังคงเดินหน้าการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการลงทุนแบบเข้าซื้อกิจการ หรือ M&A (Mergers and Acquisitions) ที่จะสามารถรับรู้รายได้และกระแสเงินสดได้ทันที รวมถึงร่วมจับมือกับพันธมิตรธุรกิจในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ทั้งในรูปของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าขยะ โดยจะพิจารณาเลือกลงทุนในโครงการที่มีผลการดำเนินงาน และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนากลุ่มธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) ในรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ เช่น Direct PPA และ ESCO Model PPA ซึ่งเป็นการขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งกับภาครัฐและเอกชนแบบครบวงจร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
ที่มา: ไออาร์ เน็ตเวิร์ค