ทั้งนี้ สนศ. ได้สำรวจข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยตามฤดูกาลและการแพร่ระบาดของโรคระบาดต่าง ๆ และโรคไข้หวัดใหญ่ แบบสำรวจ Online ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการดำเนินการ เรื่อง การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนในสังกัด โดยกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียนในสังกัด เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาเป็นประจำอย่างเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อต่าง ๆ
นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภายในและภายนอก เพื่อดำเนินการให้นักเรียนเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ซึ่งได้ส่งใบขออนุญาตดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ขออนุญาตผู้ปกครองในเบื้องต้นก่อนการดำเนินการตรวจสุขภาพนักเรียนตามเกณฑ์ เช่น การตรวจคัดกรองร่างกายทุกระบบ ตรวจคัดกรองสายตา และประเมินภาวะโภชนาการ การตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางโดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว การเก็บตกวัคซีนในนักเรียนชั้น ป.1 ที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ได้แก่ วัคซีน HPV ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก (ชั้น ป.5 เฉพาะเพศหญิง) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (ชั้น ป.6 ทุกคน) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (เฉพาะปีการศึกษา 2567 ชั้น ป.1 - ป.3 ทุกคน) เป็นต้น
ขณะเดียวกัน สนศ. ยังได้เวียนแจ้งมาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลนักเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการและแนวทาง การป้องกันโรค ดูแลรักษาและการส่งต่อผู้ป่วย กำชับให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในบรรยากาศพื้นที่ที่โปร่งโล่งและในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก รักษาสุขอนามัยนักเรียน ครูและบุคลากร โดยการล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่ออยู่ในที่แออัด รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ โดยประสานสำนักงานเขตให้กำกับดูแลโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตามแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดตามฤดูกาลและโรคไข้หวัดใหญ่ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคให้กับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรมเสียงตามสาย กิจกรรมหน้าเสาธง กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมการรณรงค์และความสัมพันธ์ชุมชน ป้ายนิเทศภายในโรงเรียน เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเฝ้าระวังตรวจสอบเด็กก่อนเข้าห้องเรียนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม. หากพบนักเรียนที่มีอาการป่วยให้แยกเด็กอยู่ที่ห้องพยาบาลและสวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งแนะนำผู้ปกครองให้พานักเรียนไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในโรงเรียน
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ในฐานะหน่วยงานหลัก ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ได้ส่งเสริมให้ความรู้แก่อาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งผู้ปกครองและเด็กให้ปฏิบัติตนตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สนอ. กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยมาตรการในการปฏิบัติ ได้แก่ จัดให้มีระบบคัดกรองเด็กช่วงเช้า ตั้งแต่ก่อนรับตัวเข้าภายในศูนย์ฯ หากพบเด็กมีอาการป่วยจะแยกเด็กและประสานผู้ปกครองมารับกลับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลเบื้องต้นแก่ผู้ปกครอง หากยังมีอาการป่วยอยู่จำเป็นต้องให้เด็กหยุดเรียนไปก่อนและควรรีบพาไปพบแพทย์ จัดให้มีระบบการป้องกันภายในศูนย์ฯ เช่น จัดจุดล้างมือ จัดให้มีการเรียนการสอนในบริเวณที่เปิดกว้าง มึลมธรรมชาติสามารถผ่านได้สะดวก จัดให้มีแก้วน้ำ ถาดอาหาร และช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง การสวมหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ การประชาสัมพันธ์ แจ้งข่าว แจ้งเตือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ความรุนแรงของโรคที่มีต่อเด็กเล็ก โดยส่งเสริมความรู้แก่อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กและให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในการปฏิบัติตนตามแนวทาง การป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัด หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หากมีความจำเป็น ขอให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมระหว่างวันให้กับผู้สูงอายุในศูนย์ผู้สูงอายุ ดินแดงและสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุหญิงในลักษณะพักอาศัยอยู่ประจำที่บ้านบางแค 2 การติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลและผู้สูงอายุให้ปฏิบัติตนตามแนวทาง การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ สบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และเฝ้าระวัง เมื่อผู้สูงอายุมีไข้ เจ็บคอ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน สามารถรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้ ในปี 2567 สพส. ได้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 40 สนอ. ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 133 คน เจ้าหน้าที่ 13 คน รวมทั้งสิ้น 146 คน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 67 เวลา 09.30 น. - 11.30 น. ณ บ้านผู้สูงอายุบางแค 2
ที่มา: กรุงเทพมหานคร