กทม. ส่งเสริมความรู้-แนะนำโภชนาการ ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมคนกรุงฯ

จันทร์ ๒๓ ธันวาคม ๒๐๒๔ ๑๑:๑๔
พญ. ภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเร่งสร้างความตระหนักรู้และแนวทางส่งเสริมด้านโภชนาการ เพื่อควบคุมการบริโภคเกลือและโซเดียมของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรายใหม่พบสูงมากขึ้นทุกปี ซึ่งผลการตรวจสุขภาพประชาชน 1 ล้านคนของ กทม. ในปี 2567 พบว่าประชาชนมีพฤติกรรมบริโภคอาหารเค็มและหมักดองเป็นประจำอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ สูงถึงร้อยละ 24 และพบสูงสุดในประชาชนกลุ่มอายุ 15-34 ปี สูงถึงร้อยละ 36

ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย (SALTS) และร่วมขับเคลื่อนนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมในปีงบประมาณ 2567 โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานตลาด กทม. ผู้จัดการตลาด Premium Market และบุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งสำรวจปริมาณโซเดียมในตัวอย่างอาหารในชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และร้านจำหน่ายอาหารในพื้นที่ 50 เขต ประเมินความตระหนักรู้ของประชาชน และขยายผลไปยังตลาดอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึง Healthy Canteen ในโรงอาหารศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) ตลอดจนประชาสัมพันธ์ตลาดและร้านค้าที่จำหน่ายอาหารเค็มน้อยสั่งได้ สุขภาพดีสั่งได้ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ "BMA Nutri Chat"

นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยเชิงรุกในชุมชนผ่านหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยมีนักโภชนาการให้คำแนะนำด้านโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม สร้างความตระหนักเรื่องโซเดียม การใช้เครื่องปรุง การอ่านฉลากโภชนาการ และแนะนำการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ อีกทั้งมีบุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุขเยี่ยมบ้านประเมินภาวะโภชนาการในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พร้อมให้คำแนะนำการบริโภคอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่

ส่วนการควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารเช้าและกลางวันในโรงเรียนสังกัด กทม. ได้ใช้โปรแกรม Thai School Lunch for BMA จัดอาหาร โดยกำหนดเมนูที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งได้ทดลองคำนวณและวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารโดยนักโภชนาการของ สนอ. เพื่อให้มีความหลากหลายและได้คุณค่าสารอาหารครบถ้วนเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายตามวัย พร้อมทั้งขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัดและนอกสังกัดดำเนินการมาตรการ 9 ข้อในการส่งเสริมด้านโภชนาการในโรงเรียน รวมถึงให้นักโภชนาการลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กในโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กให้สามารถเลือกรับประทานอาหารและมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. ได้สนับสนุนระบบ Thai School Lunch for BMA ให้กับโรงเรียนในสังกัดใช้ในการจัดสำรับอาหารเช้าและอาหารกลางวันทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. โดยสำรับอาหารในระบบฯ กำหนดจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สนอ. ซึ่งเมื่อโรงเรียนจัดสำรับอาหาร ระบบฯ จะคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ประกอบสำรับอาหารและคุณค่าสารอาหาร เช่น พลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน โซเดียม น้ำตาล ต่อเด็ก 1 คน ว่าสารอาหารที่ได้รับผ่าน มากเกินไป น้อยเกินไป หรือค่อนข้างมาก หากพบว่ามีโซเดียมมากเกินกำหนด ในขั้นตอนการปรุงอาหาร ผู้ปรุงจะปรับลดปริมาณวัตถุดิบให้ลดลงจากที่ระบบฯ คำนวณไว้

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO