คาร์บอนเครดิตคืออะไร
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ให้นิยามของคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ไว้ว่า คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองและบันทึกในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยวัดเป็น "ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)" โดยสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่มีไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงานในรายงานการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต จะต้องกระทำผ่านระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ อบก. กำหนด
ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ คาร์บอนเครดิต คือการที่ธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ สร้าง "เครดิต" ของคาร์บอนขึ้นมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไป "หักลบ" กับปริมาณคาร์บอนที่ธุรกิจหรือองค์กรปล่อยออกมาได้ ในกรณีที่ธุรกิจหรือองค์กรนั้น ๆ ปล่อยคาร์บอนสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่ถ้าธุรกิจหรือองค์กรนั้น ๆ ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำเอาเครดิตที่มีอยู่ไปขายต่อให้กับธุรกิจหรือองค์กรอื่น ๆ ที่ปล่อยคาร์บอนสูงเกินเกณฑ์ ดังนั้น ผู้ผลิตที่จำเป็นต้องปล่อยคาร์บอนมากเกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะมาซื้อคาร์บอนเครดิตไป เพื่อเพิ่มโควตาการปล่อยคาร์บอนให้ธุรกิจหรือองค์กรของตนเอง
อย่างไรก็ตาม การทำคาร์บอนเครดิตและการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ปัจจุบันยังเป็น "ภาคสมัครใจ" กล่าวคือ ยังไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำ แต่การที่ผู้ผลิตต่าง ๆ เริ่มหันมาทำคาร์บอนเครดิต ก็นับว่าเป็นการแสดงจุดยืนว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ด้วยการส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมที่ลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกผ่านการเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต
บทบาทของคาร์บอนเครดิตในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เนื่องจากคาร์บอนเครดิต เป็นกลไกหนึ่งที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อสร้างแรงจูงใจในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่ธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ จะมีคาร์บอนเครดิตได้ ก็จะต้องทำกิจกรรมหรือดำเนินการต่าง ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยและเพิ่มการดูดกลับ/กักเก็บก๊าซเหล่านี้ไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จนมีคาร์บอนเครดิตอยู่ในมือ ซึ่งก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ได้แค่ใส่ลงในรายงานว่าธุรกิจหรือองค์กรของเราสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ลดลงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำไปขายต่อได้นั่นเอง
ดังนั้น บทบาทของคาร์บอนเครดิต ที่เปรียบเสมือนสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อธุรกิจหรือองค์กรถูกกำหนดว่าต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่อุตสาหกรรมที่มีการผลิตขนาดใหญ่ไม่สามารถควบคุมการปล่อยให้อยู่ในเกณฑ์ได้ ก็จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิตรายอื่นเพื่อให้มีโควตาการปล่อยเพิ่ม หลีกเลี่ยงการต้องจ่ายค่าปรับหรือมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สูงขึ้น
กลไกนี้จึงช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการกระตุ้นให้เหล่าผู้ผลิตลงทุนในเทคโนโลยีหรือโครงการต่าง ๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะนำมาซึ่งคาร์บอนเครดิต จากนั้นก็จะสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพราะการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ในระยะยาวจะสร้างรายได้และลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าที่กำหนด อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยผู้ผลิตแต่ละรายต้องทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ยังประโยชน์ในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไปโดยปริยาย รวมถึงยังช่วยผลักดันสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ มาตรการส่งเสริม การเข้าถึงแหล่งทุน หรือการสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวอีกด้วย
ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยกำลังเติบโต โดยมีการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างต่อเนื่อง มีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งโครงการที่มีบทบาทมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ "โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย" เป็นโครงการที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ที่ทางอบก. พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 มีการขึ้นทะเบียนและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ จะเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" ซึ่งสามารถนำไปใช้รายงาน ใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล การจัดงานอีเวนต์ และจากการผลิตผลิตภัณฑ์ได้
ดังนั้น โครงการ T-VER จึงเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย
โครงการ T-VER มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ Standard T-VER และ Premium T-VER โดยโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจากจดหมายข่าวเดือนตุลาคม 2567) มีที่ขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 472 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 468 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ (ดำเนินการในปี 2567) ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 175 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER เท่านั้น โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 20,497,588 tCO2eq
ส่วนภาพรวมของตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย ที่เริ่มมีการซื้อขายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน ปีงบประมาณ 2568 มีปริมาณและมูลค่าการซื้อ-ขาย ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ไปแล้วกว่า 3,596,371 tCO?eq รวมมูลค่ากว่า 316,440,394 บาท แยกเป็นรายปีงบประมาณ ดังนี้
- ปี 2559 มีปริมาณซื้อ-ขาย 5,641 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 846,000 บาท
- ปี 2560 มีปริมาณซื้อ-ขาย 33,468 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 1,006,000 บาท
- ปี 2561 มีปริมาณซื้อ-ขาย 144,697 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 3,090,520 บาท
- ปี 2562 มีปริมาณซื้อ-ขาย 131,028 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 3,246,984 บาท
- ปี 2563 มีปริมาณซื้อ-ขาย 169,806 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 4,375,686 บาท
- ปี 2564 มีปริมาณซื้อ-ขาย 286,580 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 9,714,290 บาท
- ปี 2565 มีปริมาณซื้อ-ขาย 1,187,327 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 128,489,980 บาท
- ปี 2566 มีปริมาณซื้อ-ขาย 857,102 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 68,321,090 บาท
- ปี 2567 มีปริมาณซื้อ-ขาย 686,079 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 85,794,604 บาท
- ปี 2568 มีปริมาณซื้อ-ขาย 94,643 tCO?eq มูลค่าการซื้อขาย 11,555,240 บาท
แม้ว่าตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจะกำลังเติบโต ทั้งจากแรงกระตุ้นของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต ที่จะนำมาใช้ในอนาคต แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการซื้อ-ขายต่ำ จากรายงานสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย ผ่านงานวิจัย "The 2024 Thailand's Voluntary Carbon Market" พบว่า ประเทศไทยมีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในระดับต่ำ คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.77 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ อีกทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตยังสูง จนเป็นอุปสรรคสำหรับผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน การดำเนินการของกลไกคาร์บอนเครดิตจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก แม้มูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 จะเติบโตถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าก็ตาม
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าของโครงการคาร์บอนเครดิตไม่ได้นำคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองออกมาขายสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตมากนัก เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะนำคาร์บอนเครดิตดังกล่าวไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจหรือองค์กรของตนเองมากกว่า และผู้ซื้อยังมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไม่มาก ทำให้ราคาขายไม่คุ้มค่าพอให้เจ้าของโครงการคาร์บอนเครดิตยินดีขาย
ประเภทโครงการที่ทำให้เกิดคาร์บอนเครดิต
สำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ได้ หรือก็คือโครงการที่ทำแล้วได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ต้องเข้าข่าย 15 ประเภทโครงการ ดังนี้
พลังงานทดแทน (Renewable Energy)
(1) พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล (REF)
(2) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน (EEP)
ขนส่ง (Transport)
(3) การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (PT)
(4) การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV)
(5) การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ (EEE)
ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency)
(6) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงานและในครัวเรือน (EEB)
โรงงาน (Factory)
(7) การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นธรรมชาติ (MNR)
(8) การใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด (CS)
ของเสีย (Waste)
(9) การจัดการขยะมูลฝอย (SWM)
(10) การจัดการน้ำเสียชุมชน (CWM)
(11) การนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ (MU)
(12) การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม (IWM)
การใช้ที่ดิน (เกษตรและป่าไม้) (Land Use (Agriculture & Forestry))
(13) การลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร (FOR&AGR)
การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS)
(14) การดักจับ กักเก็บ และ/หรือ การใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก (CCUS)
อื่น ๆ (Other)
(15) ประเภทอื่น ๆ ตามที่ อบก. กำหนด (OTH)
บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด กับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดคาร์บอน
ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการลด/เพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หนึ่งในการดำเนินการในเรื่องนี้ของบริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด คือจัดทำรายงานบัญชีรายการปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อขอการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดการปล่อย เพิ่มการดูดกลับ และสามารถทวนสอบผลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในองค์กร 10% ภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้ได้ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรม CSR ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่าเพิ่มต้นไม้สีเขียว อันเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศตามธรรมชาติ และนำไปกักเก็บในรูปของพลังงานชีวมวล รวมถึงเพื่อทดแทนกับปริมาณกระดาษที่บริษัทนำมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์ และกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน การสร้างฝ้ายชะลอน้ำ การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลและแนวปะการัง เป็นต้น
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการลดก๊าซเรือนกระจกในบริบทของธุรกิจ ก็คือ "ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" การใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมี ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ออกแบบผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ IDEMITSU IFG, IFD และ IRG ซีรีส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชูนวัตกรรมการขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยการลดและชดเชยคาร์บอน โดยเฉพาะ IDEMITSU IFG /IRG ซีรีส์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีน้ำมันนาโนเทเลอร์ (Nano Tailored Oil) เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาเพื่อนำวัสดุนาโนมาเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณสมบัติของน้ำมันหล่อลื่น ที่นอกจากจะมีเพิ่มคุณสมบัติของน้ำมัน ยืดอายุผลิตภัณฑ์ ลดของเสีย เพิ่มศักยภาพในการช่วยปกป้องเครื่องยนต์แล้ว ยังประหยัดพลังงาน ประหยัดทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องยนต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หรือ ผลิตภัณฑ์ IDEMITSU IFG Plantech Racing กับครั้งแรกของโลก ที่น้ำมันเครื่องจากพืชสามารถใช้ได้ในสนามแข่ง โดย IDEMITSU IFG Plantech Racing เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ จากเทคโนโลยี PlantTech ผสานกับเทคโนโลยีน้ำมันนาโนเทเลอร์คุณภาพสูง จนได้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่ใช้วัตถุดิบจากพืช (Plant based) ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มาผลิตเป็นน้ำมันพื้นฐานมากกว่าร้อยละ 80 และมีความโดดเด่นด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ได้มาตรฐาน API SP เป็นน้ำมันเครื่องจากพืช และเปี่ยมด้วยสมรรถนะระดับการแข่งขัน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ IDEMITSU IFG Plantech Racing คือ "น้ำมันเครื่องที่ใช้วัตถุดิบจากพืช" โดยกระบวนการปลูกพืช จะมีการดูดกลับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์จากบรรยากาศ มาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการสร้างอาหารหรือกระบวนการสังเคราะห์แสง มากกว่าปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาในกระบวนการผลิตน้ำมันพื้นฐาน ทำให้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นี้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิ และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปูทางไปสู่การทำคาร์บอนเครดิตในอนาคตด้วย เนื่องจากมีกิจกรรมที่เข้าข่ายโครงการที่ทำแล้วได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก idemitsu ที่เตรียมส่งต่อและถ่ายทอดความสำเร็จมายังบริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีพลังงานสีเขียวต่าง ๆ หรือเทคโนโลยีล่าสุด ในการร่วมคิดค้นเทคโนโลยีอาหารสัตว์เพื่อหยุดภาวะโลกร้อน ด้วยสารสกัดจากเปลือกมะม่วงหิมพานต์ (CNSL) นำไปผสมกับอาหารสัตว์เพื่อลดแก๊สมีเทน ที่มักได้จากกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว แพะ และแกะ โดยแบคทีเรียในกระเพาะหมักอาหารจะผลิตมีเทน CNSL จะเข้าไปปรับปรุงการย่อยอาหาร ยับยั้งแบคทีเรียที่สร้างแก๊สมีเทน ลดการปล่อยแก๊สมีเทนจากการทำปศุสัตว์ และบรรเทาผลกระทบจากแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
แม้ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด จะยังไม่จัดว่าเป็นการทำคาร์บอนเครดิต แต่กิจกรรมทั้งหมดทั้งมวล รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นของ idemitsu ล้วนแล้วแต่ออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความพยายามที่จะดำเนินการตามกลไก "ลด-ดูดกลับ-ชดเชยคาร์บอน" เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนในประเทศไทย รวมถึงบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในระดับโลก สร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว และสร้างโลกแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า "คาร์บอนเครดิต" สามารถเป็นได้มากกว่าเครื่องมือทางสิ่งแวดล้อม คือเป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ลงทุนในโครงการที่ช่วยลด/กักเก็บการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งสร้างความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ยั่งยืนของธุรกิจหรือองค์กร แม้ว่าตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยในเวลานี้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและเผชิญกับความท้าทายหลายประการ แต่ศักยภาพของตลาดนี้ยังคงสูง ยังเติบโตต่อได้ ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสนับสนุนจากภาครัฐ และการพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคในการสร้างสรรค์ความยั่งยืน
บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com
ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand
ที่มา: ต้นคิด มีเดีย