ภาพรวมในเดือนธันวาคมนี้ วันหยุดยาว เทศกาลปีใหม่ โปรโมชั่นส่งท้ายปีเก่าของแบรนด์ รวมถึงความหวังในการได้รับเงินโบนัสและเงินดิจิทัลเฟส 1 หนุนให้แนวโน้ในการใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่การท่องเที่ยว การใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ และเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า สำหรับเป็นของขวัญให้ทั้งสำหรับตัวเองและคนที่รัก
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ไฮไลท์สำคัญในปีนี้ คงไม่พ้นเรื่อง "ไทยด้อม" หรือพลังแฟนคลับภายในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ร้อนแรงแบบไม่มีแผ่ว เห็นชัดได้จากกระแสที่เป็นไวรัลมากมายทั่วทั้งประเทศและทั่วทั้งสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาน้องหมีชื่อดัง ฮิปโปหมูเด้ง รวมไปถึงการสนับสนุนสมรสเท่าเทียม งานแข่งกีฬานานาชาติ คู่จิ้นในกระแส แม้กระทั่งกรณีข่าวฉาวของ อินฟลูขายทอง และ กลุ่มธุรกิจขายตรง ล้วนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกลุ่มผู้สนับสนุนที่เชื่อและพร้อมที่จะซัพพอร์ตอย่างเต็มกำลัง พลังไทยด้อมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งในด้านการบริโภคสินค้าและบริการ การจัดกิจกรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ชุมชนแฟนคลับจึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่แบรนด์และนักการตลาดควรจับตามอง
ด้วยพลัง ไทยด้อม ที่น่าจับตามองในปีนี้ คุณอรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้มองเห็นพลังสำคัญที่นักการตลาดไม่ควรพลาดในการทำแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง จึงให้ข้อชี้แนะไว้เป็นแนวทางสำคัญ ดังนี้
- พลังของการสนับสนุนและชุมชนแข็งแกร่ง
"หมูเด้ง" "ตุ๊กตาน้องหมี" รวมถึง "การสนับสนุน นักกีฬาไทยในเวทีระดับนานาชาติ" เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แฟนคลับในประเทศไทยพร้อมที่จะแสดงออกถึงพลังแห่งความรักและพลังของการสนับสนุนอย่างแรงกล้าของไทย ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ กระแส "T-POP" ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สะท้อนถึงความรักชาติและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
สร้างพลังความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และแฟนด้อม บนเป้าหมายเดียวกัน
แบรนด์สามารถเลือกประเด็น ไทยด้อม ต่าง ๆ ที่ตรงกับเป้าหมายของแบรนด์ และร่วมกันกับเหล่าแฟนด้อมเพื่อทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมาย เช่น หากแบรนด์เลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เป็น แบรนด์สามารถขยายกิจกรรมไปสู่การสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์สัตว์ หรือ สวนสัตว์ เพื่อสร้างความยั่งยืนระยะยาวมากกว่าแค่กิจกรรมแบบครั้งคราว
- พลังแห่งความหลงใหล
การตลาด คู่จิ้น เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถช่วยให้แฟนคลับพร้อมสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่คู่จิ้นใช้ ช่วยให้แบรนด์สร้างความผูกพันกับผู้บริโภคและสะท้อนทัศนคติที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ
เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ความชอบและคอมมูนิตี้ ผ่านการมีส่วนร่วมของแฟนคลับ
เช่น การประกวดของแฟนด้อมในการออกแบบไอเดียการสื่อสารที่มาจากแก่นแท้ของแฟนด้อม โดนแบรนด์จะให้โจทย์ เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันพัฒนาแผนการสื่อสาร พร้อมทั้งเล่าเรื่องและนำเสนอผ่านภาพเครื่องมือ AI และแบรนด์ให้การสนับสนุนในการทำงานจริงในท้ายที่สุด
- พลังของความหวัง
จากกระแสฮิตเรื่องมูเตลู หรือกรณีข่าว 'อินฟลูขายทอง' หรือ 'ลูกข่ายกลุ่มธุรกิจขายตรง' เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าของแฟนคลับ ที่มีจุดเชื่อมโยงกับเหล่าเทพ วัตถุ หรือบุคคล ด้วย ความหวัง เป็นหลักพึ่งพิงทางจิตใจและพลังขับเคลื่อนที่สำคัญว่า ชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นให้ได้
สนับสนุนการพัฒนาตนเองและสุขภาพจิต
แบรนด์สามารถสนับสนุนการพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทัน และให้พลังของความหวังเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมเสริมสุขภาพจิตที่ดีผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น "Write Your Peace" เปิดตัวแบรนด์เครื่องเขียนด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนมุ่งเน้นการสะท้อนความคิดเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่จัดกิจกรรมมาราธอนคอนเทนต์ที่ช่วยให้จิตใจสงบ "Watch & Unwind Nights" สนับสนุนการผ่อนคลายและสร้างความผูกพันทางอารมณ์เชิงบวกกับแบรนด์
เมื่อเราพูดถึงภาพรวมคะแนนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2567 นี้ ถือได้ว่าเป็นตัวเลข คงที่ เมื่อเทียบจากผลสำรวจฉบับปี 2566 ที่ผ่านมา (66 Vs 66) สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมไปถึงภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้ผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งในส่วนนี้เองก็กระทบไปถึงระดับความสุขของคนไทยที่ เท่าเดิม เมื่อเทียบกับผลสำรวจปีที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองเห็นความพยายามของคนไทยที่จะหาความสุขด้วยการใช้จ่ายเพิ่มเติมสุขเล็ก ๆ น้อยๆ หาสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจที่เหนื่อยล้า กระแสแฟนด้อมจึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการฮีลใจจากความเหนื่อยล้าของชีวิตในยุคที่ต้องสู้ กระตุ้นให้คนไทยยอมใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อยๆ เพื่อความสุขของตัวเอง รวมไปถึง กระแสความฮอตของ Art Toy ที่มาแรงในปีนี้ พร้อมกับเทศกาลสิ้นปีที่กำลังจะมาถึง เป็นพลังสำคัญที่ทำให้คนไทยยังมีความหวังกับระดับความสุขที่คิดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ถ้าหากเราเจาะลึกไปถึงแนวโน้มการใช้จ่ายที่แบ่งตามช่วงอายุจะสังเกตเห็นได้ว่า เป็นการใช้จ่ายแบบคลื่น (Wave Consumption) คือ ใช้สลับออม ซึ่งจะมีความสำคัญและมีความหมายที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนี้
- วัย 20 - 29 ใช้จ่ายกระจัดกระจาย
การใช้จ่ายค่อนข้างกระจายตัวไปในเรื่องต่าง ๆ ตามความชอบและความสนใจของแต่ละบุคคล และมีแนวโน้มสำคัญในการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงโอรโมชั่นใหญ่ทั้งกลางปีและสิ้นปี
- วัย 30 -39 ใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตในทุกวัน
คนในช่วงวัยนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน เน้นการใช้จ่ายไปที่สินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภค ที่ทำให้ตนเองมีความสุขในทุกวัน
- วัย 40 - 49 ใช้จ่ายเพื่อความสุขในบ้าน
เน้นการใช้จ่ายไปกับความเป็นอยู่เป็นหลัก ของใช้ในบ้าน เติมเต็มการอยู่บ้านให้มีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือการจับจ่ายใช้สอยไปกับกิจกรรมและประเพณี เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลถือศีลกินเจ เป็นต้น
- วัย 50 - 59 ใช้จ่ายเพื่อความสุขวัยเกษียณ
ถือเป็นช่วงวัยที่ค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายมากที่สุด ซึ่งจะเน้นการใช้จ่ายไปในเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อการพักผ่อนในวัยใกล้เกษียณและการทำกิจกรรมตามประเพณีต่าง ๆ
ท้ายนี้ คุณอรนลิน เรื่องสุรเกียรติ ผู้จัดการส่วนวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้เผยให้เห็นถึงเรื่องฮิตประเด็นฮอต ที่คนไทยล้วนจับตามองในครึ่งปีหลังที่ผ่านมานี้ ไม่พ้นเรื่องของ กระแสความดังของหมูเด้ง ที่ตกคนไทยและคนต่างประเทศเข้าด้อมแฟนคลับตัวยง รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยในการเชียร์กีฬาระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเพียง 4 ปีครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้ผ่อนคลายจิตใจ เติมพลังความหวังและความสุขให้กับใครหลาย ๆ คน
ที่มา: Midas PR