นายแพทย์ธิติ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน จึงมอบหมายให้ทีมปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช และศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับหน่วยงานระดับพื้นที่ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประเมินความเสียหายและความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม พร้อมให้คำแนะนำประชาชนเพื่อฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล โดยเน้นการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค ระบบประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ห้องน้ำ ห้องส้วม ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อขยะชุมชน สถานที่สาธารณะ เช่น ตลาด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ร้านอาหาร รวมถึงเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในแหล่งอาหารและน้ำหลังสภาพแวดล้อมได้รับความเสียหาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงพาหะนำโรคหรือเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดเชื้อและโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
"นอกจากนี้ ทีม SEhRT กรมอนามัยยังได้จัดกิจกรรม Big Cleaning ชุมชน และสถานที่สาธารณะ โดยมีการจัดการน้ำสะอาดมาใช้ในสถานที่ดังกล่าว และเร่งปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation tools kit) วัสดุอุปกรณ์ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรค ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำ ยาสามัญประจำบ้าน ถุงดำสำหรับเก็บรวบรวมสิ่งปฏิกูลมูลฝอย น้ำยาทำความสะอาด และน้ำดื่มสะอาด เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย สำหรับพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลง เร่งเข้าสู่การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม สามารถเริ่มทำความสะอาดบ้าน เก็บสิ่งสกปรก นำโคลนออกจากบ้านได้ ทั้งนี้ ก่อนทำความสะอาดควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง รองเท้าบูท เป็นต้น เพื่อป้องกันเชื้อโรค ของมีคม สัตว์มีพิษที่อาจจะซ่อนตัวอยู่และทำให้เกิดอันตราย และเตรียมอุปกรณ์เก็บกวาด ทำความสะอาดให้พร้อม ก่อนเข้าพื้นที่ต้องสำรวจความเสียหาย และความมั่นคงของโครงสร้างว่ามีความ แข็งแรง ไม่ล้มพัง และสำรวจไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าลัดวงจร เพื่อป้องกันไฟช็อต ไฟดูด ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย