แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการประชุมสถานการณ์ปัญหาและความต้องการด้านการส่งเสริมสุขภาพ สำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี พร้อมเปิดเผยว่า จากข้อมูล SDG Port ปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมี LGBT ที่เปิดเผยตัวตน จำนวน 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากข้อมูลของ LGBT Capital ปี 2562 ที่มีจำนวน 3.6 ล้านคน จากการศึกษางานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า LGBT ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย เช่น Lesbian เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ Gay เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มะเร็งทวารหนัก ไวรัสตับอีกเสบ A B และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Transwoman เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มะเร็งทรวารหนัก ไวรัสตับอักเสบ A B รวมทั้งการเสี่ยงต่อการใช้ฮอร์โมนการแปลงเพศ และอาการแทรกซ้อนจากการทำศัลยกรรม จากการสำรวจความต้องการด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBT พบว่า มีความต้องการการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ กรมอนามัยจึงพัฒนาแนวทางการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBT โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำชุดข้อมูลองค์ความรู้และแนวทางการดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงและตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่ม LGBT รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคและจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนในกลุ่ม LGBT สามารถดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างเหมาะสม ยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ชุดข้อมูลองค์ความรู้และแนวทางการส่งเสริมสุขภาพที่กรมอนามัยพัฒนาขึ้น มุ่งตอบโจทย์ความต้องการเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคที่ถูกต้องเหมาะสมในประชาชนกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่เข้าถึงยากให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นตามช่องทางการสื่อสารที่ตรงกับความต้องการของประชาชนกลุ่ม LGBTQIAN+ โดยเริ่มเดินหน้าในกลุ่ม LGBT ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในการสร้างสุขภาพร่วมกับกรมอนามัย อีกทั้ง ยังได้รับความร่วมมือจากกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และภาคประชาสังคม โดยมี รองศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ดร.จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร นักวิชาการอิสระ รวมทั้งมี ตัวแทนจากสมาคม มูลนิธิ และชมรมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเสมอภาคและยั่งยืน
ที่มา: กรมอนามัย