นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก "กรุงเทพมหานคร" และเฟซบุ๊ก "กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม." รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและแอปพลิเคชัน AirBKK ขณะเดียวกันสำนักอนามัยได้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้ง 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง สำนักการแพทย์ให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 8 แห่ง เพื่อให้บริการรักษาและคำแนะนำวิธีการป้องกันดูแลตนเอง รวมทั้งขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกจัดทำ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" ภายในโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 271 แห่ง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ควบคู่กับกำหนดมาตรการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมในช่วงที่พบปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 สูง งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนเสริม หรือชดเชย หากจำเป็นต้องหยุดเรียน นอกจากนี้ ได้กำชับเน้นย้ำเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กทม. ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เพื่อป้องกันอันตรายและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น เช่น รถควันดำ โรงงาน สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่น สามารถแจ้งข้อมูล หรือเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue หรือโทรศัพท์แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ. เน้นย้ำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ สนพ. ได้บูรณาการความร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้ และข้อแนะนำแก่ประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการป้องกัน เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ขับเคลื่อนตัวชี้วัดในการตรวจประเมินเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขต สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะและมาตรการควบคุมฝุ่นละอองในสถานประกอบกิจการ โรงงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สูง สถานที่ก่อสร้าง สถานที่ถมดิน ท่าทราย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้ดำเนินการตรวจประเมินกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวแล้ว 1,242 แห่ง และในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูง สนอ. ได้ตรวจกำกับดูแลสถานประกอบกิจการคอนกรีตผสมเสร็จที่มีการร้องเรียนบ่อยครั้ง จำนวน 25 แห่ง เพื่อกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด โดยในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งตรวจติดตามและกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้มารับบริการ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เรื่อง การป้องกันโรคซึ่งเกิดจาก PM 2.5 รวมทั้งดำเนินการค้นหา คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง PM 2.5 ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จะจัดทีมออกหน่วยฯ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 - 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน โดยให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการตรวจรักษาจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 66 - 30 พ.ย. 67 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 55,728 ราย ส่งมอบหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่กลุ่มเปราะบาง และประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคาร เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปแล้ว 53,135 ชิ้น พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้ป่วยที่ใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง และผู้ป่วยจากการเยี่ยมบ้านและการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย
ที่มา: กรุงเทพมหานคร