แต่เดิมที บ้านฮูแตทูวอนั้นมีปัญหาสภาพพื้นที่เป็นดินทราย และพื้นที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งต้นน้ำสำหรับทำการเกษตรในปี 2559 สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเข้าพื้นที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ และการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน สำหรับการทำการเกษตรเนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นดินทราย และในปี 2561 ได้ดำเนินการต่อยอดสู่โครงการปลูกเมล่อนบนดินทราย เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย สร้างอาชีพทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และปราชญ์ชาวบ้านร่วมพัฒนานวัตกรรมตามแนวพระราชดำริเพื่อปรับสภาพดินทรายให้เหมาะสมกับการปลูกเมล่อน ซึ่งเป็นพืชมูลค่าสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ผลักดันเศรษฐกิจครัวเรือนให้มีความมั่นคง เกษตรกรสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้จากการปลูกเมล่อนควบคู่กับการปลูกพืชผักสวนครัวอื่นๆที่ดำเนินการอยู่แต่เดิม
โครงการปลูกเมล่อนบนดินทรายมีความสำเร็จด้านมูลค่าของผลผลิตที่จับต้องได้สูงถึง โรงเรือนละ 20,000 บาท ต่อหนึ่งรอบการปลูกต่อ 1 โรงเรือน ทำกำไรมากกว่า 300,000 บาท ต่อปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้คึกคัก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนโดยการให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับดำเนินโครงการ นำมาซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างโรงเรือนและจัดทำระบบน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบมีมาตรฐาน
ในการเยี่ยมชมโครงการปลูกเมล่อนบนดินทราย ณ บ้านฮูแตทูวอ ครั้งนี้ ดร. อำพล อาภาธนากร และคณะเยี่ยมชมงานได้ชื่นชมถึงความสำเร็จของโครงการที่มีการดำเนินการและมีผลงานสม่ำเสมอ มีความสำเร็จที่จับต้องได้สร้างประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พร้อมจับมือสถาบันปิดทองหลังพระฯ วางแผนเตรียมผลักดันโมเดลต้นแบบการปลูกเมล่อนบนดินทรายขยายสู่พื้นที่อื่นที่มีปัญหาดินทรายคล้ายคลึงกันในจังหวัดนาราธิวาส ต่อไปในอนาคต
ที่มา: สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ