นอกจากนี้ สนอ. โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่งได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมองค์ความรู้วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนกให้แก่ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือจัดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตลาด กทม. ลงพื้นที่ที่มีการค้าสัตว์ปีกมีชีวิต เพื่อให้ความรู้กับผู้ค้าเพิ่มความระมัดระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ตรวจสอบใบอนุญาตการจำหน่ายสัตว์เลี้ยง การตรวจวิเคราะห์ ทดสอบและการชันสูตรโรคสัตว์ พร้อมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกัน โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ. และ สนอ. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ เพื่อติดตามสถานการณ์และข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเตรียมความพร้อมระวังเหตุ จัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก และภัยสุขภาพต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยแจ้งโรงพยาบาลเพิ่มความเข้มงวดมาตรการคัดกรองประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือฟาร์มโคนม ในผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ มีไข้ และมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจผิดปกติ (หอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) ปอดอักเสบเฉียบพลัน ติดป้ายแจ้งเตือนบริเวณจุดคัดกรองกรณีมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกให้แจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และพิจารณาเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อตามแนวทางที่กำหนด หากพบผู้ป่วยสงสัย ให้รายงานในระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่อไป
นอกจากนี้ สนพ. ได้แจ้งเตือนประชาชนป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วย หรือป่วยตายมารับประทาน รับประทานเป็ดไก่ได้ตามปกติ ขอให้ปรุงสุกและชำแหละอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ไม่ให้เด็กเข้าใกล้สัตว์ป่วย และหากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุข หรือผู้นำชุมชนทันที เพื่อทำลายซากสัตว์ปีกอย่างถูกวิธีและจำกัดการแพร่ระบาดของโรค พร้อมวางมาตรการเชิงรุก โดยมอบหมายให้กลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนที่มารับบริการ และประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล แนะนำเพื่อป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน กรณีพบสัตว์ปีกป่วยตายในชุมชน ให้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่เข้าตรวจสอบสาเหตุและดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคจากสัตว์สู่คนให้ได้อย่างทันท่วงที หากประชาชนพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายเป็นจำนวนมาก สามารถแจ้งได้ที่กลุ่มพัฒนาทางระบาดโรคสัตว์สู่คน โทร. 0 2411 3298, สายด่วนศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กทม. โทร. 1555 หรือสำนักงานเขตในพื้นที่เกิดเหตุได้ทันที
นายศรชัย โตวานิชกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตลาด กทม. กล่าวว่า ตลาดนัดมีนบุรี และตลาดธนบุรีเป็นตลาดในกำกับที่มีการจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ประเภทสัตว์ปีก ได้ดำเนินการลงตรวจร้านค้าในตลาดทั้ง 2 แห่งร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยแนะนำร้านค้าเรื่องการรักษาความสะอาดควบคู่กับให้ความรู้ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ลดความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน
ที่มา: กรุงเทพมหานคร