กทม. เข้มตรวจสอบใบอนุญาต-โครงสร้างอาคาร-ระบบรักษาความปลอดภัยโรงแรมทั่วกรุงฯ

ศุกร์ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๘ ๐๙:๐๘
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงการดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาต โครงสร้างอาคาร และระบบรักษาความปลอดภัยโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวว่า สปภ. ได้ขอความร่วมมือเจ้าของอาคารและสถานประกอบการต่าง ๆ ให้เฝ้าระวัง ตรวจตรา และเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายจากเหตุเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้น โดยขอให้ตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยของอาคารอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ติดตั้งป้ายบอกเส้นทางหนีไฟในบริเวณที่เห็นชัดเจน มีไฟฟ้าส่องสว่าง และสามารถนำไปสู่ทางออก ติดตั้งถังดับเพลิงที่มีสภาพสมบูรณ์ในจุดที่สังเกตง่ายและหยิบใช้งานสะดวก มีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 แห่ง ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อควบคุมเพลิงเบื้องต้น ติดตั้งระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินที่แยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่นภายในอาคาร และติดตั้งผังอาคารรวมบริเวณชั้นล่างและผังอาคารของแต่ละชั้นในทุกชั้น ซึ่งแสดงตำแหน่งที่อยู่ อุปกรณ์ดับเพลิง เส้นทางหนีไฟ และประตูทางออกฉุกเฉิน เป็นต้น พร้อมทั้งขอให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างจัดฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น และฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้พนักงานมีความรู้และประสบการณ์ สามารถช่วยเหลือตนเอง หรือผู้อื่นได้อย่างปลอดภัย
กทม. เข้มตรวจสอบใบอนุญาต-โครงสร้างอาคาร-ระบบรักษาความปลอดภัยโรงแรมทั่วกรุงฯ

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำกับเจ้าของอาคารและสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ และสนับสนุนการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุและแผนอพยพหนีไฟให้กับสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านท่องเที่ยวและแหล่งชุมชนเมืองที่มีความแออัดสูง ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุเพลิงไหม้ หรือสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย. ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอาคารทั้งในขณะก่อสร้างและภายหลังการก่อสร้าง โดยสุ่มตรวจในแต่ละพื้นที่ หากพบว่าอาคารที่ตรวจสอบมีสภาพ หรือการใช้งานที่ไม่ปลอดภัย สุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน สนย. จะมีคำสั่งให้เจ้าของอาคารระงับ แก้ไข หรือรื้อถอนได้ตามสมควร และกำหนดให้อาคาร 9 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงแรม (80 ห้องขึ้นไป) โรงมโหรสพ อาคารชุด หรืออาศัยรวม โรงงาน สถานบริการ และป้ายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องตรวจสอบอาคารทุก 1 ปี (การตรวจสภาพย่อย) และทุก 5 ปี (การตรวจสภาพใหญ่)

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 (1) กำหนดให้อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรมเข้าข่ายเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ห้ามมิให้เจ้าของอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนั้น เพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

สำหรับอาคารประเภทโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไปต้องมีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรม หรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรมแล้วแต่กรณีตามมาตรา 32 ทวิ โดยให้เจ้าของอาคารเสนอรายงานการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี โดยการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารอย่างน้อยต้องตรวจสอบเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร (ระบบบริการและอำนวยความสะดวก ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคาร เพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร และการตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร โดยเจ้าของอาคารต้องตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบอาคารตามคู่มือปฏิบัติของผู้ผลิต หรือผู้ติดตั้งระบบและอุปกรณ์ของอาคาร หรือตามแผนปฏิบัติการการตรวจบำรุงรักษาที่ผู้ตรวจสอบกำหนด และบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาอาคารตามช่วงระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ในระหว่างการใช้อาคารประเภทโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันตั้งแต่ 80 ห้องขั้นไป เจ้าของอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องมีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากสภาพ หรือการใช้อาคารซึ่งเจ้าของอาคารนั้นต้องรับผิด โดยมีจำนวนเงินที่เอาประกันภัยตามข้อ 8 แห่งกฎกระทรวง กำหนดอาคารที่ต้องทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย พ.ศ. 2564 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๐๖ ซีอีโอธุรกิจธนาคารเดิมพันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่แม้มีช่องว่างทางทักษะ
๐๙:๕๘ เครียดจริงหรือแค่คิดไปเอง? เช็คระดับความเครียดของคุณใน 5 นาที
๐๙:๔๔ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จัดงาน Agency Kick off 2025 รวมพลังฝ่ายขาย มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน
๐๙:๐๑ ซัมซุง ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๐๙:๔๔ ซัมซุง ดึง แม่ชม พร้อมด้วย พี่จอง-คัลแลน ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๐๙:๐๔ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขยายพื้นที่ บรรเทาทุกข์ มอบไออุ่น แก่ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท รวมมูลค่ากว่า 8
๐๙:๔๐ ร่วมสำรวจอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในงานสัมมนาออนไลน์ฟรี!
๐๙:๔๘ ปีใหม่จะไม่โสด! Tinder เผยอาทิตย์แรกเดือน ม.ค. ปัดขวาคึกคักที่สุด
๐๙:๒๓ MPJ แย้มข่าวดีรับปีใหม่ รุกขยายลานตู้ที่ศรีราชาครั้งใหญ่ คาดเพิ่มรายได้ลานตู้ 52%
๐๙:๓๙ COVERMARK จัด Precious Bright Promotion ต้อนรับลูกค้าใหม่