แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ได้มีโอกาสรับทราบถึงบทบาทภารกิจที่ผ่านมาขององค์กรที่ มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2567 กรมวิทย์ฯ บริการ ได้มีการปฏิรูประบบราชการเป็นการภายในเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมกับภารกิจในปัจจุบันยิ่งขึ้น มีการจัดระเบียบองค์กรโดยปรับเป็น 10 สถาบัน เช่น สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนานักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น อีกทั้ง ริเริ่มให้มีสำนักวิทยาศาสตร์บริการในภูมิภาค 12 เขต ครอบคลุมการดูแลในพื้นที่ทั่วประเทศ ยกระดับห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติด้วยระบบ AI พร้อมขยายเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กรมวิทย์ฯ บริการ ยังมีผลงานที่โดดเด่นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สามารถขับเคลื่อนผลงานด้านห้องปฏิบัติการจนได้อันดับที่ 5 ของโลก ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับเหรียญทองในระดับนานาชาติ การเชื่อมต่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และขับขี่อัตโนมัติ (T-CAVs) การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการร่วม อย. และ อว. และภารกิจสานพลังร่วมในการดูแลประชาชนภายใต้ ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว. ด้วยการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน
อีกทั้งนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนา เพิ่มเติม ได้แก่ เรือหุ่นยนต์ใช้สำหรับ เก็บตัวอย่างน้ำ, สำรวจแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ในด้านการนำวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชน กรมวิทย์ฯ บริการ มีศักยภาพในการผลิตเครื่องกรองน้ำดื่มเพื่อการอุปโภค-บริโภค ซึ่งสามารถกรองน้ำได้ถึง 500 ลิตรต่อชั่วโมง เทคโนโลยีการพัฒนาเครื่องกรองน้ำระบบสารกรองสำหรับชุมชน การพัฒนากรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติสำหรับผ้าทอ การเขียนเทียนบนผืนผ้าด้วยปากกาจันติ้งไฟฟ้าแบบพกพา การพัฒนากระบวนการผลิตเซรามิก การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากโปรตีนทางเลือก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่เค็มแบบซูสวีด (sous-vide) และการยกระดับคุณภาพวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เช่น ขมิ้น กระท่อม เป็นต้น
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมหารือภารกิจดังกล่าว ทำให้ตนได้รับทราบภารกิจสำคัญของกรมวิทย์ฯ บริการ มากยิ่งขึ้น และรู้สึกชื่นชมพร้อมให้กำลังใจผู้บริหารและบุคลากร ที่มีความมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งตนยินดีและพร้อมสนับสนุนส่งเสริมภารกิจของกรมวิทย์ฯ บริการ ในการเชื่อมโยงภารกิจกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนภารกิจ อว. ในเชิงพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ร่วมกับกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของรถยนต์เพื่อช่วยเหลือผู้ขับขี่ระหว่างการใช้งาน และกระทรวงมหาดไทยในด้านระบบน้ำประปาดื่มได้
ทั้งนี้ ได้หารือกรมวิทย์ฯ บริการ เตรียมลงพื้นที่ยกระดับจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 27 - 28 มกราคม 2568 เพื่อติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดปลอดภัยในชุมชน และถ่ายทอดนวัตกรรมปากกาจันติ้งไฟฟ้าแบบพกพาสำหรับเขียนลายผ้าบาติกให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงาม ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นแบบบูรณาองค์ความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์บริการ