นางสาวปณิตา ควรสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE ผู้จัดจำหน่ายถ่านหินบิทูมินัส (ถ่านหินสะอาด) และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ขนส่งทางน้ำ-ทางบก-ท่าเรือ-คลังสินค้า เปิดเผยว่า บริษัทได้แจ้งใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 (AGE256A) บางส่วน มูลค่า 204 ล้านบาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนจริงในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยจ่าย ทั้งยังส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทลดลง และเพิ่มสภาพคล่องสนับสนุนการเติบโตในอนาคตของกลุ่มบริษัท และเป็นการตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่องของบริษัท และการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และมั่นใจว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในปี 2568 จะเห็นการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นกำไร เนื่องจากถ่านหินยังคงเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ และเป็นเชื้อเพลิงที่มีปริมาณสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ หรือเชื้อเพลิงประเกทอื่นๆ ซึ่งนอกจากถ่านหินจะมีความได้เปรียบเรื่องตันทุนและปริมาณสำรองที่มีอยู่แล้ว ยังมีความได้เปรียบด้านประสิทธิภาพในการให้ค่าความร้อนที่สูง และความสะดวกในการใช้งานอีกด้วย โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวแล้วในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 หลังจากที่บริษัทเผชิญภาวะขาดทุนในช่วงไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2567
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เตรียมออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 3 ชุด โดยชุดที่ 1 อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.10-7.30% ต่อปี ไม่มีหลักประกัน ชุดที่ 2 อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.00-7.20% ต่อปี มีหลักประกัน และชุดที่ 3 อายุ 2 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ย 7.20-7.40% ต่อปี มีหลักประกัน บริษัทได้รับการจัด Credit Rating อยู่ที่ระดับ BB+ โดย TRIS Rating และมีหลักประกันมากถึง 1.5 เท่า สำหรับหุ้นกู้อายุ 2 ปี และ 2 ปี 9 เดือน โดยหลักประกันเป็นหุ้นสามัญของบริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด (AGET) มูลค่าหุ้นละ 1,111.08 บาทต่อหุ้น ประเมินมูลค่าโดยบริษัท เจย์แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีผลการดำเนินงานเป็นกำไรสุทธิสูงถึง 125-250 ลบ. ต่อปี อีกทั้งบริษัทยังมีแผนจะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2570 อีกด้วย
โดยหุ้นกู้ที่ออกในครั้งนี้คาดว่าเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ในระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม พ.ศ. 2568 ผ่าน 5 สถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์บลูเบลล์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ สยามเวลธ์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2568
ที่มา: มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์