รพ.จุฬาฯ จับมือสภากาชาดไทย เปิดตัว "Check PD" แอปพลิเคชันตรวจหาความเสี่ยงเป็นพาร์กินสันแม่นยำถึง 90%

พฤหัส ๑๖ มกราคม ๒๕๖๘ ๐๙:๐๘
รพ. จุฬาฯ จับมือสภากาชาดไทย เปิดตัวแอป "Check PD" หลังร่วมกันพัฒนาเพื่อใช้ตรวจหาความเสี่ยงการเป็นพาร์กินสัน เหตุพบสถิติคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นและยังพบในคนอายุต่ำกว่า 60 ปี ชี้ความแม่นยำของการตรวจประเมินมีสูงถึง 90% พร้อมเชิญชวนคนไทยโดยเฉพาะคนอายุ 40 ปีขึ้นไปโหลดแอปประเมินความเสี่ยง เพื่อหาทางป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที
รพ.จุฬาฯ จับมือสภากาชาดไทย เปิดตัว Check PD แอปพลิเคชันตรวจหาความเสี่ยงเป็นพาร์กินสันแม่นยำถึง 90%

คุณเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เปิดเผยว่า พาร์กินสันเป็นหนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ และยังเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มโรคความเสื่อมทางระบบประสาทด้วยกัน คาดกันว่าในปี 2040 จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว สำหรับประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอายุที่มากขึ้น และปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีผลทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยเพิ่มสูงมากขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน และจากการที่การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้นยังคงทำได้ยาก เพราะอาจจะมีอาการที่แสดงออกมายังไม่มาก อีกทั้งการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโรคมีอาการที่ค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลาง ทำให้การรักษาค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองยังอาจเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคนี้แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก สามารถวางแผนการรักษาและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Check PD เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยการตรวจพบโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค มีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษา และการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชัน Check PD นี้ ถือเป็นความสำเร็จในความร่วมมือที่สำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่สามารถช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน สามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาได้อย่างเหมาะสม

ศ. นพ. รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการทันที แต่มีระยะเวลาของการเตือนและระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยนานถึง 10-20 ปี โดยอาการที่ชัดเจนคืออาการสั่น ส่วนอาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง อาการนอนละเมอ ออกท่าทางหรือออกเสียงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาความฝัน ฯลฯ มักถูกมองว่าไม่ใช่อาการผิดปกติ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวไม่คิดว่าตนเองเป็น จึงไม่ได้พบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

จากการที่อาการของโรคพาร์กินสัน ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพาร์กินสันเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการทรงตัว ผู้ที่มีอาการมาก จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองลำบาก มีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นหากสามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือลดความรุนแรงของอาการได้ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบได้เร็ว ทางศูนย์ฯ จึงได้ร่วมกับทางสภากาชาดไทย ในการพัฒนาแอปประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน หรือแอป CHECK PD ขึ้นมา

"นอกจากผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลักแล้ว ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน จากสถิติที่พบว่าปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบในผู้ป่วยอายุน้อยลง และพาร์กินสันเป็นโรคที่มีระยะเวลาในการดำเนินโรคค่อนข้างนาน ดังนั้น การที่สามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่จะหาทางป้องกัน หรือเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค" ศ. นพ. รุ่งโรจน์กล่าว

"Check PD" เป็นแอปพลิเคชันที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยสามารถตรวจเช็กความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาทีในการทำแบบประเมินความเสี่ยง 20 ข้อ ซึ่งการเช็กนี้มีทั้งการตอบคำถาม การทดสอบขยับนิ้ว การทดสอบอาการสั่น การทดสอบการทรงตัว การทดสอบการออกเสียง หลังจบทุกขั้นตอนการเช็กแล้ว สามารถกดรับผลในแอปพลิเคชันได้ทันที ซึ่งผลที่ได้ให้ความแม่นยำสูงถึง 90% สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHECK PD ได้แล้ววันนี้ทั้งแอปสโตร์และเพลย์สโตร์

ด้านโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ศิลปินนักเปียโนชื่อดัง ผู้ที่เคยแต่งและร้องเพลงพาร์กินสัน เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า โรคพาร์กินสันสามารถตรวจเช็กหาความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ล่วงหน้า หากพบว่ามีความเสี่ยง สามารถป้องกันและรักษาได้ ซึ่งทางสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน Check PD ขึ้นมา ที่จะเป็นประโยชน์กับการดูแลสุขภาพของทุกคน จึงอยากขอเชิญชวนทุกคนโหลดแอปพลิเคชันนี้และตรวจเช็กความเสี่ยงของตัวเอง หากพบว่ามีความเสี่ยงจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษา เพราะโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่หากตรวจพบไวก็จะรักษาได้ไว

เพื่อให้แอปพลิเคชัน Check PD เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมลงพื้นที่คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันทั่วประเทศ และส่งต่อระบบสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สภากาชาดไทย ยังได้เชิญชวนร่วมกันบริจาค ในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน หรือร่วมบริจาคเงิน 76 บาท ภายใต้แคมเปญ "พาร์พบแพทย์" เพื่อร่วมค้นหา คัดกรอง ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันกว่า 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการบริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการได้โดยบริจาคเงินผ่านบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย สำนักงานจัดหารายได้ เลขที่บัญชี 045-2-62588-8 ภายหลังโอนเงินบริจาคแล้วสามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน แจ้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชน (เพื่อใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษี) ระบุว่า "ค้นหาพาร์กินสัน พาผู้ป่วยพบแพทย์" ส่งเอกสารมาที่ Email: [email protected] เพื่อที่ทางสภากาชาดไทยจะได้ดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินสำหรับการยื่นลดหย่อนภาษีต่อไป

ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น

รพ.จุฬาฯ จับมือสภากาชาดไทย เปิดตัว Check PD แอปพลิเคชันตรวจหาความเสี่ยงเป็นพาร์กินสันแม่นยำถึง 90%

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ ม.ค. วว. ร่วมกับพันธมิตรเปิดศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
๑๗ ม.ค. กระแสดีเกินคาด! WOW Festival 2025 ปรากฏการณ์ใหม่ ปลุกพลังคน เติมเต็มพลังเมือง พร้อมขนเซอร์ไพรส์รอทุกคนถึง 19 ม.ค.
๑๗ ม.ค. นั่งชิลๆ จิบน้ำชายามบ่ายพร้อมขนมเลิศรส ณ ที แอนด์ ทิปเปิ้ล ชั้น 23
๑๗ ม.ค. CPW จัดโปรเด็ด!! ช้อปสินค้าไอทีลดหย่อนภาษีสูงสุด 30,000 บาท
๑๗ ม.ค. LDC เดินหน้าปี 2568 บุกตลาดภาคใต้ เตรียมเปิด 3 สาขาใหม่ ย้ำมาตรฐานศูนย์ทันตกรรม โมเดลโรงพยาบาลขนาดเล็ก
๑๗ ม.ค. เชอร์วู้ดฯ ร่วมกับ มูลนิธิคุณแม่ลี้กิมเกียวฯ แจกนมฮอกไกโด ถั่วมารูโจ้ ส่งความสุข ฉลองวันเด็กแห่งชาติ 2568
๑๗ ม.ค. ขายบัตรแล้ว! นิตยสารแพรว พร้อมเสิร์ฟความน่ารักของ เก่ง น้ำปิง ในงาน Praew Meet Read Into The Wild with Keng
๑๗ ม.ค. ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ สุขสมหวัง ร่ำรวย เฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับอาหารจีนเลิศรส ณ ห้องอาหารจีนแทพเพสทรี ใน 3 โรงแรมชั้นนำเครือเคป แอนด์
๑๗ ม.ค. เตรียมจองซื้อ หุ้นกู้ดิจิทัลบางจาก อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.15% บนแอปฯ เป๋าตัง ครั้งแรกกับการให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นกู้ดิจิทัลบางจากจองซื้อก่อน ดีเดย์ 7-13 ก.พ. 68
๑๗ ม.ค. วิลล่า เทวา รีสอร์ท โฮเทล กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม: ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 5 จาก 1,257 โรงแรมในกรุงเทพฯ บนเว็บไซต์