องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และภาคีเครือข่าย ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) จัดงานประกาศรางวัลในโครงการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 ณ ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
โครงการ Content Creator Workshop : Synergy for Clean Energy มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการสื่อสารและความเข้าใจในประเด็นพลังงานให้กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเรื่องพลังงานและไฟฟ้าเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชา ทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและโอกาสในการลงทุนทางเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้น การสื่อสารเกี่ยวกับพลังงานและไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องมีการเรียบเรียงและนำเสนออย่างครบถ้วน ถูกต้อง และชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณชน
น.ส.อรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า หลังจากการจัด "Policy Forum ครั้งที่ 17 : ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ" ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องจนเกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในประเด็นพลังงานของประเทศไทยได้มีพื้นที่ในการร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่ม เช่น Content Creator, นักข่าว, นักเคลื่อนไหว และนักศึกษา ซึ่งผ่านการคัดเลือกจนเหลือ 6 ทีม รวม 18 คน ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "Content Creator Workshop: Synergy for Clean Energy" เมื่อวันที่ 16-17 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ในงานนี้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน วางแผนและออกแบบงานสื่อสาร พร้อมผลิตคอนเทนต์ร่วมกับสื่อมวลชนมืออาชีพจากกองบรรณาธิการ The Active และ Policy Watch ก่อนนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นตามหลักเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แก่
- ความน่าสนใจและความแตกต่างของประเด็น
- ความถูกต้องของข้อมูลเนื้อหา
- การเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย
- กราฟิกสวยงามและดึงดูด
- กราฟิกช่วยขยายความเข้าใจได้ดีและถูกต้อง
- การปฏิบัติตามกติกาการแข่งขัน
โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาให้ครบถ้วนรอบด้านและเผยแพร่ร่วมกับกองบรรณาธิการ The Active และ Policy Watch
สำหรับผลรางวัลในโครงการนี้ ได้แก่
- รางวัลยอดเยี่ยม
บทความหัวข้อ "อาทิตย์เป็นของทุกคน แต่พลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นของใคร" โดย น.ส.สุดารัตน์ บำรุงศักดิ์ศิลป์, น.ส.ศุภินทรา แสงอรุณ และ น.ส.อาทิตยา เพิ่มผล
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล
1. บทความหัวข้อ "ไทยมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ทำไมจ่ายค่าไฟแพง??" โดย น.ส.กอร์ย่า ศรีสวัสดิ์, นายวรเทพ พูลสวัสดิ์ และ น.ส.วิมลสิริ คงเพียรธรรม
2. บทความหัวข้อ "Nuclear 2037 Fear or Future: สำรวจ SMRs โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จิ๋ว Unlock วิกฤติพลังงานชาติ" โดย นายณัฐพล จากน่าน, นายวชิรวิทย์ พุทธชัย, นายกร มาร์ค ดอน กาเบรียล และนายธิติสุทธิ์ พู่จิตร์กานนท์
น.ส.สุดารัตน์ บำรุงศักดิ์ศิลป์ ตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ระบุว่า ทีมต้องการสื่อสารให้สังคมได้เห็นถึงภาพความเท่าเทียมการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังแสงอาทิตย์ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องไกลตัวในแง่ของการเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในระดับครัวเรือนของประชาชน บทความชิ้นนี้จึงพาไปหาคำตอบข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าในเรื่องการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด การขับเคลื่อนจะต้องรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
? Website : www.thaipbs.or.th ? Application : Thai PBS? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin
ที่มา: ส.ส.ท.