ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการเพิ่มโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าสู่เส้นทางผู้บริหารสถานศึกษาได้แล้ว ในข้อบังคับเดียวกันยังได้ยกเลิกความใน (ข) ของข้อ 9 ในส่วนของมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพศึกษานิเทศก์ด้วย โดยแก้ไข 1) มีประสบการณ์ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1.1) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 1.2) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 1.3) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาหรือสถาบันมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา และ 2) มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพและมีการเผยแพร่ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการนิเทศ การกำกับติดตาม และการวิจัย สามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้เป็นคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้เช่นกัน
"การปรับแก้ข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพ ฉบับที่ 6 นี้ จะส่งผลให้บุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และมีจิตสำนึกดี จะมีโอกาส มีความก้าวหน้าเข้ามาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ได้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา สามารถนำประสบการณ์การบริหารในหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาได้ และผู้ที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถาบันและมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถเลือกเปลี่ยนสายงานได้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่วิชาชีพทางการศึกษามากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมคนดี คนเก่ง ให้มาร่วมกันสร้างและพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นไป" เลขาธิการคุรุสภา กล่าว.
ที่มา: เอยู คอมมิวนิเคชั่น