โดยในปีนี้ได้จัดพิธีทำขวัญนาเกลือ ณ แปลงนาเกลือของนายสมพงษ์ หนูศาสตร์ หมู่ที่ 7 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักของเกษตรกรในชุมชนเนื่องจากเป็นเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ และประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยรวมกลุ่มทำการเกษตรในทุกด้านมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร มีอำนาจต่อรองทางการตลาด และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะการทำนาเกลือทะเลไทย ที่ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตการเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นความสำคัญและกำหนดนโยบายและวางแผนเขตพื้นที่อนุรักษ์นาเกลือทะเลของประเทศ โดยยกระดับแหล่งทำนาเกลือเป็นมรดกทางการเกษตรโลกเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้สรุปรวบรวมและจัดทำข้อมูลสาระสำคัญ 5 ด้าน ตามระบบมรดกทางการเกษตรของโลก (Globally Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS) ของเกลือทะเลไทย ภายใต้ชื่อ ระบบการผลิตเกลือทะเลไทยอย่างยั่งยืน (Siam Sea Salt Sustainable Production Systems) เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาขับเคลื่อนต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร คาดการณ์ผลผลิตรวม 537,923 ตัน ลดลงจากปีก่อนที่ผลิตได้ 683,803.13 ตัน เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกนอกฤดูกาล และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ทำให้เริ่มฤดูกาลผลิตล่าช้า ขณะที่อุณหภูมิที่แปรปรวนส่งผลให้การตกผลึกเกลือใช้เวลานานขึ้น กระทบประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม โดยผลผลิตส่วนใหญ่มาจาก 7 จังหวัด ซึ่งเพชรบุรีผลิตมากที่สุด 227,617 ตัน คิดเป็น 42.34% รองลงมาคือสมุทรสาคร 225,720 ตัน หรือ 41.99% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งดำเนินการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตตั้งแต่ต้นฤดูกาล พร้อมกำหนดแนวทางพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ
พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวสายเกลือ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของการทำนาเกลือคือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี มีจุดท่องเที่ยวตลอดเส้นทางรวม 10 แห่ง ประกอบด้วย
จุดที่ 1 บ้านย่า สปาเกลือ ที่อนุรักษ์วิถีการทำนาเกลือแบบดั้งเดิม และนำเกลือทะเลไทยมาสร้างผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สบู่เกลือ ครีมทาผิวเกลือ เพื่อจำหน่ายและบริการสปาให้แก่นักท่องเที่ยว
จุดที่ 2 ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนนาเกลือ เป็นแปลงนาเกลือ มาตรฐาน GAP แห่งแรกของไทย เปิดพื้นที่ให้เป็นโรงเรียนนาเกลือ และฝึกปฏิบัติการทำนาเกลือให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชม
จุดที่ 3 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกลือสมุนไพรลาดใหญ่ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เกลือทะเลหลากหลาย และผลิตภัณฑ์ผสมสมุนไพรท้องถิ่น เช่น สครับหน้า สปาตัว ให้เลือกอุดหนุน หรือสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย
จุดที่ 4 โรงเรียนคนทำนาเกลือ เป็นจุดต้นแบบการทำนาเกลือโดยใช้นวัตกรรมเหมาะสำหรับเกษตรกรที่สนใจมาเรียนรู้ และยังมีผลิตภัณฑ์จากเกลือหลากหลายรูปแบบจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว
จุดที่ 5 ธี ฟาร์ม เป็นจุดพักผ่อนโอมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากลองสัมผัสบรรยากาศนาเกลือ เปิดประสบการณ์กับกิจกรรมการทำนาเกลือร่วมกับชุมชน
จุดที่ 6 วิสาหกิจชุมชนพัฒนาเกลือคุณภาพสมุทรสาคร เปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกลือผ่านการรับรองมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
จุดที่ 7 วิสาหกิจชุมชนแป้งร่ำ ตำบลบางนางลี่ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกลือทะเลแปรรูปจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์พอกหน้าและสบู่สมุนไพร
จุดที่ 8 วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง มีผลิตภัณฑ์จากเกลือทะเล กิจกรรมสปา นวดแผนไทย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาเกลือในเชิงนวัตกรรม
จุดที่ 9 จุดชมวิวสะพานไม้นาเกลือ เอาใจคนรักการถ่ายภาพมาชมบรรยากาศแปลงนาเกลือ ซึ่งจุดนี้ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น งานประติมากรรมเกลือ "Art of Salt" อีกด้วย
และสุดท้ายจุดที่ 10 Mong Doo Gleua Cafe เป็นจุดพักชมวิวนาเกลือทะเล พร้อมบริการเครื่องดื่มและอาหารหลากหลายที่ต้องใช้เกลือเป็นส่วนประกอบในการปรุง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเชิญชวนให้ออกเดินทางมาเที่ยวได้แล้วในปี 2568 นี้
ด้านนายสมพงษ์ หนูศาสตร์ เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ กล่าวเพิ่มเติมถึงประเพณีทำขวัญเกลือทะเลว่า มีรากฐานมาจากความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาการทำเกลือจากทะเลเป็นอาชีพหลัก เกลือจึงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งการใช้ประกอบอาหารและการรักษาโรค การขุดเกลือจากทะเลนับเป็นกิจกรรมที่มีความเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องได้รับการบูชาและขอพรเพื่อให้ผลผลิตดีและอุดมสมบูรณ์ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านและเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยขั้นตอนของประเพณีการทำขวัญเกลือ มีดังนี้คือ
1.การเตรียมเครื่องบูชา ประกอบด้วย ข้าวตอก, ผลไม้, ดอกไม้, และเกลือใหม่ เพื่อใช้ในการบูชาเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพระแม่ธรณี รวมทั้งพวกที่ช่วยในกระบวนการทำเกลือ 2.การตั้งพิธี จะจัดขึ้นในช่วงก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยวเกลือใหม่ โดยเลือกสถานที่ที่มีการทำเกลือ เช่น โรงเกลือ หรือแหล่งทำเกลือที่เป็นที่รู้จักของชาวนาเกลือในพื้นที่นั้น 3.การเชิญเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาเกลือ เช่น เทพเจ้าแม่ธรณี หรือเทพเจ้าที่ชาวบ้านเคารพบูชาเพื่อขอพรให้การทำเกลือในปีนั้นราบรื่นและประสบผลสำเร็จ 4.การทำขวัญเกลือ นำเกลือที่ได้รับการเก็บเกี่ยวมาใหม่ มาบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้การทำนาเกลือในฤดูกาลนี้มีความอุดมสมบูรณ์และได้ผลผลิตเกลือคุณภาพดี และ 5.การแจกจ่ายเกลือหลังเสร็จพิธี เพื่อให้ชาวบ้านหรือผู้ร่วมพิธีมั่นใจว่าเกลือที่ได้จะบริสุทธิ์และมีคุณภาพดี นับเป็นการแบ่งปันความโชคดีและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชน
โดยการทำขวัญเกลือถือว่าเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนกับธรรมชาติ แสดงถึงความเคารพและความเชื่อในพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยสนับสนุนการทำมาหากินของชาวบ้านในชุมชน ส่วนในด้านของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกลือทะเลในรูปแบบของสปาเกลือ มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มสมุนไพรไร่ส้ม นำเกลือทะเลธรรมชาติมาผสมกับสมุนไพร เช่น ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ และสมุนไพรอื่นอีกหลายชนิด เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุง ดูแล ทำความสะอาดผิวพรรณ เป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำสมุนไพรที่มีในท้องถิ่นมาทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันกับเกลือทะเล เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่พี่น้องเกษตรกรในชุมชน ตลอดจนเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสและผ่อนคลายในบรรยากาศชุมชนด้วย
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร