ส่วนความคืบหน้าแผนการเปิดห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานครเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ สวท. ได้สำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 50 เขต พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการฯ จัดประชุมพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน ขอข้อมูลพื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ว่างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. จากสำนักการคลัง และทำประชาพิจารณ์กับประธานชุมชน สมาชิกสภาเขต และสำนักงานเขต เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะสร้างห้องสมุดฯ รวมถึงการจัดทำรูปแบบห้องสมุดฯ การให้บริการ อัตลักษณ์ตามลักษณะพื้นที่และตามความต้องการของประชาชน ดำเนินการด้านเอกสารขอใช้พื้นที่ (ถ้าจำเป็น) และจัดทำคำของบประมาณ โดยจะดำเนินการภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ส่วนการก่อสร้างจะดำเนินการภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2571
สำหรับแนวทางการปรับปรุงห้องสมุดให้ดึงดูดการเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น สวท. ได้ปรับปรุงด้านการบริหารจัดการให้มีความยืดหยุ่น รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงด้านกายภาพให้มีความทันสมัย น่าใช้งาน จัดสรรพื้นที่บริการให้สอดคล้องกับการใช้งาน เช่น Co-working space ห้องประชุมกลุ่มย่อย พื้นที่ดูหนังฟังเพลงที่เป็นส่วนตัว ปรับปรุงด้านกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและความต้องการของผู้ใช้บริการทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งปรับปรุงด้านบริการให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองและผู้สูงอายุ โดยเพิ่มความสะดวกสบายและเพิ่มช่องทาง การเข้าถึงหนังสือและสื่อต่าง ๆ ด้วยบริการ E-book , Book delivery (การยืม-คืน ระหว่างห้องสมุด)
ที่มา: กรุงเทพมหานคร