แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการมีสุขภาพดีทุกมิติ ผ่านการผลักดันแนวคิด เวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อการปรับพฤติกรรม ครอบคลุม 6 ด้าน ซึ่งการออกกำลังกายที่เพียงพอเป็นหนึ่งในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงขอเชิญชวนประชาชนออกกำลังกาย เป็นประจำทุกวัน เพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นที่ต้องได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ
ที่ผ่านมา กลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ เพียงร้อยละ 16.1 แม้ในปี 2566 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 21.4 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้เด็กกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายเพียงพอที่ร้อยละ 40 อีกทั้งเด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยสูงกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดน้อยลง การกระโดดโลดเต้นเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง กระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกและทำให้สูงเพิ่มขึ้นร่วมกับการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งเด็กอายุ 6 - 12 ปี ควรนอนหลับวันละ 9 - 12 ชั่วโมง เด็กอายุ 13 - 18 ปี ควรนอนหลับวันละ 8 - 10 ชั่วโมง และเข้านอนก่อน 3 ทุ่ม อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน การเจริญเติบโต (Growth Hormone) ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า ช่วงทองของการเติบโต (Golden Stage) ควรเน้น การดูแลเป็นพิเศษ โดยสำหรับเด็กผู้หญิง คือช่วงอายุ 10 - 12 ปี และสำหรับเด็กผู้ชาย คือช่วงอายุ 12 - 14 ปี
แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัย ให้ความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายวัยเรียนวัยรุ่นให้มีกิจกรรมทางกาย ระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) หลากหลายรูปแบบ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ว่ายน้ำ บาสเกตบอล และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ โหนบาร์ เป็นต้น โดยแนะแนวทาง 10 - 20 - 30 สำหรับสถานศึกษาในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย คือ จัดกิจกรรมออกกำลังกายหน้าเสาธงทุกวัน 10 นาที สนับสนุนเด็กวัยเรียนวัยรุ่น มีกิจกรรมกระโดด เช่น กระโดดเชือก กระโดดตบ 20 นาที และส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นออกกำลังกาย ตามความชื่นชอบ 30 นาที ควบคู่กับกิจกรรมพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์และกิจกรรมเพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและข้อต่อทุกวัน ซึ่งการออกกำลังกายช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้น มีสมาธิ มีความกระตือรือร้น ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จิตใจแจ่มใส
อีกทั้งยังช่วยเสริมความสร้างหนาแน่นของมวลกระดูก กระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาระบบกระดูก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสูง โดยกรมอนามัยแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย ดื่มนมจืด 2 แก้ว ทุกวัน ควบคู่กับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สูงดี สมส่วน เจริญเติบโตเต็มศักยภาพ ลดปัจจัยในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตามแนวคิดทางเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะ องค์รวม
"การกระตุ้นให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีการออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน สนับสนุน และสื่อสารสร้างความรอบรู้ให้นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย สามารถมีกิจกรรมทางกายตามความถนัดหรือความสนใจ และมีพื้นที่สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอระหว่างวัน เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องจนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง สามารถบอกต่อแนวทางปฏิบัติให้แก่ เพื่อน ครอบครัว ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีไปพร้อมกัน"
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง "สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขอให้ประชาชนที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และขอให้ยึดหลัก "1 เช็ก 3 เปลี่ยน และ 1 ประเมิน" ได้แก่ "1 เช็ก" เช็กค่าฝุ่นก่อนออกกำลังกาย หากค่าฝุ่นสูงกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม (สีส้ม) ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรหลีกเลี่ยง ส่วนประชาชนทั่วไปให้เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งช่วงเช้า บริเวณริมถนน หรือบริเวณที่มีการก่อสร้าง หากสูงกว่า 75 มคก./ลบ.ม (สีแดง) ให้ออกกำลังกายในอาคารแทน "3 เปลี่ยน" คือ เปลี่ยนเวลา มาออกกำลังกายในช่วงบ่ายหรือเย็นแทน เปลี่ยนสถานที่จากกลางแจ้งเป็นในร่ม และเปลี่ยนรูปแบบจากการ ออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน มาเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ แทน และ "1 ประเมิน" ประเมินตนเองก่อนและระหว่างออกกำลังกายทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้งดหรือหยุดออกกำลังกายทันที ทั้งนี้ การออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงมีฝุ่น PM 2.5 จำเป็นต้องคำนึงถึงสุขภาพและคุณภาพอากาศเป็นหลัก ขอให้ใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและเหมาะสม ทั้งนี้ขอให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อประกอบการวางแผนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย