นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และการถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับระบบคุณภาพและข้อกำหนดทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ OECD GLP MAD ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยศึกษาวิจัยพัฒนา หน่วยกำกับดูแลทางกฎหมาย ผู้ประกอบการ ผู้ตรวจสอบ ถือเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของผู้ตรวจสอบให้รองรับจำนวนหน่วยงานศึกษาวิจัยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินของสมาชิกภาคีเครือข่าย OECD ในปี 2571 ซึ่งจะส่งผลถึงการธำรงไว้ซึ่งการเป็นภาคีสมาชิกแบบสมบูรณ์ของประเทศไทย ในการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี ของประเทศไทย
ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ในฐานะหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ (National Compliance Monitoring Authority: CMA) มีหน้าที่ตรวจสอบขึ้นทะเบียนหน่วยงานศึกษาวิจัย (Test Facility) ให้ดำเนินการสอดคล้องตามหลักการ OECD GLP โดยในปี พ.ศ. 2568 หน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ มีผู้ตรวจสอบที่มีศักยภาพตามเงื่อนไขของ OECD GLP จำนวน 5 คน และมีหน่วยงานศึกษาวิจัย (Test Facility) ที่ได้รับการตรวจสอบขึ้นทะเบียนตามหลักการ OECD GLP จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ที่มา: ซี.เอ.อินโฟ มีเดีย