เตือนคนรักสุขภาพ! ออกกำลังกายกลางแจ้งระวังฝุ่น PM2.5 และโอโซน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

ศุกร์ ๐๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ๑๗:๕๗
ในยุคที่การออกกำลังกายกลายเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิต หลายคนชอบการวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง แต่ปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 และโอโซน (O?) ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม การออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
เตือนคนรักสุขภาพ! ออกกำลังกายกลางแจ้งระวังฝุ่น PM2.5 และโอโซน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

รศ.ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) ให้คำแนะนำพร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ฝุ่น PM2.5 และโอโซน (O?) เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีปัญหามากกว่าพื้นที่อื่น มลพิษทางอากาศเป็นภัยเงียบที่สร้างความท้าทายและส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงได้รับการจัดการในเชิงนโยบายร่วมกัน ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน ภูมิภาค ประเทศ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศระดับนานาชาติก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาและยืนยันถึงผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว การให้ความรู้และส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

งานวิจัยยืนยัน ฝุ่น PM2.5 ทำลายสุขภาพปอดและระบบร่างกายงานวิจัยล่าสุดจาก Bahri et al. (2022) ชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายภายใต้ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างชัดเจน ผู้ที่ออกกำลังกายในสภาพอากาศที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่า80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นเวลา 14 สัปดาห์ ตรวจพบว่ามีเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการอักเสบของร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่าความจุปอด (FVC) ไม่พัฒนาในผู้ที่ออกกำลังกายภายใต้ค่าฝุ่นที่สูง หากฝุ่นสะสมในปอดเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจและมะเร็งปอดในระยะยาวได้

ค่ามาตรฐานที่ควรรู้ของฝุ่น PM2.5 และโอโซน และค่าฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสำหรับการตัดสินใจออกกำลังกาย

  • ค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ต่ำกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถือว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อย (ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก)
  • หากค่าฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสูงกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่หนัก และหากฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงควรงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปควรลดระยะเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งเมื่อฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • โอโซน (O?) เฉลี่ย 8 ชั่วโมงที่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก

ควรเลือกเวลาออกกำลังกายอย่างชาญฉลาดเนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณมลพิษเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งควรเลือกเวลาในการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งให้เหมาะกับคุณภาพอากาศโดยตรวจเช็คค่าฝุ่นและมลพิษทางอากาศแบบรายชั่วโมง (real-time)

  • ช่วงเช้าตรู่ (05.00-08.00 น.): แม้จะอากาศเย็นสบาย แต่ในหน้าหนาวฝุ่น PM2.5 มักจะสะสมจากปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (inversion)
  • ช่วงสาย-บ่าย (09.00-15.00 น.): ก๊าซโอโซนอาจจะเพิ่มสูงในช่วงหลังเที่ยงเนื่องจากแสงแดดแรงโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน
  • ช่วงเย็น (16.00-19.00 น.): อากาศไม่ร้อน แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ที่อาจจะมีฝุ่น PM2.5 สูง

ท่ามกลางมลพิษอากาศที่คุกคามสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย

  1. ตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ เช่น Air4Thai เพื่อตรวจสอบค่าฝุ่นและโอโซนแบบเรียลไทม์
  2. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น หากค่าฝุ่น PM5 รายชั่วโมงสูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรสวมหน้ากาก N95
  3. เลือกสถานที่ออกกำลังกายในร่ม อย่างเช่นฟิตเนสหรือสถานที่ที่มีเครื่องฟอกอากาศเป็นทางเลือกที่ดีในวันที่ค่าฝุ่นสูง
  4. ลดการออกกำลังกายหนักเมื่อมลพิษสูง เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องสูดอากาศที่มีมลพิษมากเกินไป
  5. สังเกตร่างกาย หากมีอาการระคายเคือง คัดจมูก หรือหายใจติดขัด ควรหยุดพักทันที

อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรคำนึงถึงคุณภาพอากาศในแต่ละวัน เวลา สถานที่ และวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ การปรับตัวและเข้าใจสถานการณ์จะช่วยให้เรามีความระมัดระวัง ลดความเสี่ยง ป้องกัน ดูแลรักษาร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีได้ และปลอดภัยจากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอีกด้วย "สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเรา แต่สุขภาพที่ปลอดภัยเริ่มต้นจากการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัว"

ที่มา: สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

เตือนคนรักสุขภาพ! ออกกำลังกายกลางแจ้งระวังฝุ่น PM2.5 และโอโซน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๑๒ กทม. เข้มความปลอดภัยทางม้าลาย ติดตั้งสัญญาณไฟ-กล้อง AI ลดอุบัติเหตุทางถนน
๑๗:๔๗ MOTHER พร้อมลั่นระฆังเทรดตลาด mai 11 ก.พ.นี้
๑๗:๒๗ d4vd ส่งเพลงเศร้าๆ เหงาๆ One More Dance ครองใจ Gen Z อีกครั้ง เตรียมปล่อยอัลบั้มใหม่ และรอชมการแสดงใน Coachella เม.ย.
๑๗:๐๗ SIAM VALENTINE 2O25 เทศกาลติดสติ๊กเกอร์หัวใจสุดยิ่งใหญ่กว่าแสนดวงกลางสยามสแควร์
๑๗:๑๓ อลิอันซ์ เปิดเผยรายงาน Allianz Global Pension Report 2568 ชี้ระบบบำนาญทั่วโลกต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง
๑๗:๕๗ โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ จับมือ บอนชอน เสริมทัพความอร่อยแบบไม่อั้น ส่ง โค้ก ฟรีรีฟิล พร้อมเสิร์ฟความสดชื่นในกว่า 100
๑๗:๒๖ จาก Generative AI สู่ Agentic AIเทรนด์เทคโนโลยีด้าน AI ที่ต้องจับตามอง
๑๗:๔๙ เตือนคนรักสุขภาพ! ออกกำลังกายกลางแจ้งระวังฝุ่น PM2.5 และโอโซน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว
๑๗:๒๐ กทม. เข้มตรวจใบอนุญาตฯ-สุขลักษณะโรงเชือดไก่ 8 รายใน ซ.ปรีดีพนมยงค์ 44
๑๗:๕๑ บีทีเอส กรุ๊ปฯ คว้าผลการประเมินความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมระดับ A- จาก CDP ประจำปี 2567 ตอกย้ำความมุ่งมั่นต่อความโปร่งใสและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ