มาทำความรู้จัก โรคไข้อีดำอีแดง หรือ scarlet fever ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจาก toxin ของเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอสคัส สายพันธุ์เอ (Streptococcus group A) พบการระบาดบ่อยในเด็กโต ช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี ทำให้อาการคออักเสบ ทอนซิลอักเสบ ร่วมกับมีผื่นแดงตามตัว เชื้อนี้อยู่ในน้ำลาย เสมหะหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย จึงเกิดการติดต่อกันได้โดยง่าย ผ่านละอองฝอยของน้ำมูก เสมหะที่ไอหรือจามรดกัน อีกทั้งผ่านการสัมผัสโดยตรงจาก มือ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้
อาการแสดงที่พบ
- ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวร่วมกับอาการเจ็บคอ นั่นคือคออักเสบ เป็นอาการสำคัญ โดยการเจ็บคอนั้นมักพบอาการอื่น ๆ เช่น ตุ่มสีแดงที่ลิ้น คล้ายผลสตรอเบอรี่
- อาจมีต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโตอักเสบร่วมด้วย ซึ่งอาจจะบวมแดง มีหนองได้
- ผื่นแดง สากคล้ายกระดาษทราย ขึ้นรอบคอ หน้าอก และกระจายไปตามลำตัวและแขนขา
- ต่อมาอาจมีการลอกของผิวหนัง บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือเท้าได้
อาการแทรกซ้อนที่พบได้ และต้องเฝ้าระวัง
- โรคไข้ ข้ออักเสบรูมาติก
- ไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดตามหลังได้ 1-4 สัปดาห์ จากปฏิกิริยาเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
การวินิจฉัยโรค
วินิจฉัยจากประวัติและอาการ อาการแสดงของโรคเป็นสำคัญ ร่วมกับการเพาะเชื้อจากคอที่มีการอักเสบของผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
การรักษา
- ยาปฏิชีวนะ ชนิดเพนนิซิลิน(Penicillin) เช่น อะมอกซิซิลิน (Amoxycillin) อย่างน้อย 7-10 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนของ โรคไข้ข้ออักเสบรูมาติกและไตอักเสบ ตามมา
- รักษาประคับประคองตามอาการอื่น ๆ เช่น ลดไข้ บรรเทาอาการเจ็บคอ ลดอาการคันสากจากผื่น
- 3. ร่วมกับคำแนะนำให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หากใน 1-4 สัปดาห์ พบอาการไข้ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ปวดข้อ รอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ปัสสาวะผิดปกติ ควรมาพบแพทย์ทันที
การป้องกัน
เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
- จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยให้ได้อย่างน้อย 48 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากผู้ป่วยได้รับยากลุ่มเพนิซิลินแล้ว
- หากจำเป็นที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันสารคัดหลั่ง จากน้ำมูก เสมหะ น้ำลาย และจำเป็นต้องล้างมือด้วยน้ำสบู่ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย
- หมั่นรักษาสุขภาพของตนและบุตรหลานให้แข็งแรง พร้อมต่อสู้กับโรคภัยเสมอ กรณีหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej
ที่มา: โรงพยาบาลนวเวช