นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมทุกหน่วยงานทั้งสถานบริการสาธารณสุข สถานประกอบการ โรงเรียน วัด ศูนย์เด็กเล็ก ร้านอาหาร จัดทำห้องปลอดฝุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่อากาศสะอาดสำหรับประชาชน ทั้งนี้ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ยังคงเกินค่ามาตรฐาน กรมอนามัยยังคงเดินหน้าร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่น ส่งผลมีห้องปลอดฝุ่น จำนวน 54,000 ห้อง รองรับประชาชนกว่า 2 ล้านคน กระจายอยู่ในสถานบริการสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียน อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร กาแฟ โรงแรม ศูนย์ประชุม ศาสนสถาน เป็นต้น และยังคงวางแนวทางขยายห้องปลอดฝุ่นเพิ่มเติม จึงขอเชิญชวนสถานประกอบการและประชาชนที่สนใจทำห้องปลอดฝุ่น ดำเนินการได้ตาม 4 ข้อ ดังนี้ 1) เลือกห้องที่จะทำเป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง ไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในห้อง เช่น จุดเทียน จุดธูป สูบบุหรี่ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดควัน และ มีประตู - หน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศน้อยที่สุด เพื่อลดการซึมผ่านของฝุ่นละอองจากภายนอกเข้ามาภายในห้อง หากมีห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรเลือกห้องนั้น เนื่องจากมีช่องว่างหรือรอยรั่วของอากาศน้อยกว่า และมีการปิดซีลที่ดีกว่า 2) ทำความสะอาดห้องที่เลือกทำเป็นห้องปลอดฝุ่น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูพื้น ซอกมุม เฟอร์นิเจอร์ แทนการกวาดหรือใช้เครื่องดูดฝุ่น เนื่องจากอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมถึงคัดแยกและกำจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากห้อง เช่น อุปกรณ์ที่ชำรุดใช้งานไม่ได้ หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสาร วารสาร เป็นต้น และล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศ และมุ้งลวด ให้สะอาด 3) ป้องกันฝุ่นจากภายนอก โดยการปิดประตู - หน้าต่างให้สนิท และหากมีช่องว่างหรือรูที่อากาศภายนอกสามารถเข้ามาในบ้านได้ ให้ปิดช่องหรือรูนั้นด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น พลาสติกใส เทปใส เทปกาวสองหน้า ปืนกาว ฟิวเจอร์บอร์ด เทปอลูมิเนียม ซีลประตู หรือเทปปิดร่องประตูหรือหน้าต่าง เป็นต้น
"4) เพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นละอองในห้อง โดยการกรองอากาศหรือเติมอากาศ สำหรับการกรองอากาศ ด้วยเครื่องฟอกอากาศ ควรเลือกที่มีขนาดเหมาะสมกับห้อง และมีค่าอัตราการจ่ายอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate: CADR) มากกว่า 3 เท่าของปริมาตรห้อง รวมถึงควรติดตั้งในบริเวณที่มีการกระจายลมที่ดี ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพื่อให้กรองฝุ่นละอองภายในห้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณีใช้ระบบความดันอากาศด้วยการเติมอากาศสะอาด ซึ่งเป็นการใช้พัดลมดูดอากาศจากภายนอกที่ผ่านการลดปริมาณฝุ่น เช่น การกรองฝุ่นโดยใช้ฟิลเตอร์ระดับ MERV 11 ขึ้นไป แล้วจ่ายเข้ามาภายในห้อง เพื่อให้ภายในห้องมีแรงดันอากาศสูงกว่าบรรยากาศภายนอก แล้วผลักดันฝุ่นออกจากอากาศภายในห้องอย่างต่อเนื่อง (Positive Pressure) จนภายในห้องมีปริมาณฝุ่นต่ำกว่ามาตรฐาน และอาจมีพัดลมดูดอากาศออก (Exhaust Fan) เพื่อดึงอากาศภายในอาคารบางส่วนออกไป โดยควรมีอัตราการดูดอากาศออกน้อยกว่าอัตราการนำอากาศเข้า" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว ทั้งนี้ สามารถศึกษาวิธีการจัดทำห้องปลอดฝุ่นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ห้องปลอดฝุ่น https://podfoon.anamai.moph.go.th/ " อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย