ขณะเดียวกัน กทม. ได้รับการสนับสนุนเพื่อลดการทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ด้วยมาตรการหยุด/ห้ามการสูบน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และจากข้อมูลกรมทรัพยากรธรณีปัจจุบัน กทม. มีค่าการทรุดตัวเฉลี่ยที่ 0.35 มม. ต่อปี และในพื้นที่ที่มีระดับต่ำใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล เช่น ถนนรามคำแหง เขตบางกะปิ และเขตบางนา เป็นต้น นอกจากนี้ สนน. ยังได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีอุโมงค์ระบายน้ำที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 4 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง รวมถึงได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำฝั่งพระนครกว่า 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที และฝั่งธนบุรีกว่า 500 ลบ.ม./วินาที
สำหรับแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการซึมน้ำลดลงและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีฝนตกในพื้นที่รุนแรงขึ้น สนน. ได้พัฒนาท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงจัดทำช่องทางรับน้ำตามแนวถนนให้สามารถรับน้ำได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังได้ก่อสร้างรางระบายน้ำรูปตัวยู (U-gutter) และรูปตัวโอ (O-gutter) เพื่อทดแทนการซึมน้ำที่ลดลง ขณะเดียวกันได้พัฒนาคลองระบายน้ำสายหลักให้สามารถควบคุมระดับน้ำในพื้นที่และระบายน้ำได้มากขึ้น โดยจัดทำเขื่อนตามแนวริมคลอง พร้อมขุดลอกคลอง การจัดหาพื้นที่บึงรับน้ำเพื่อเป็นแก้มลิงเพิ่มเติมและก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินให้สอดคล้องกับสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างประเทศ เช่น JICA weathernewsjapan ช่วยจัดทำแผนแม่บทรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ศึกษาปัญหาที่เกิดในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นสำหรับใช้ในการพัฒนาระบบระบายน้ำในอนาคต รวมถึงพัฒนา การพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อสามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ฝนตกหนักได้ล่วงหน้าก่อน 3 ชั่วโมง
ที่มา: กรุงเทพมหานคร