นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของ กทม. พบว่า อัตราป่วยสูงสุดพบในเด็กวัยเรียน อายุ 5 - 9 ปี การระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจำ และสถานปฏิบัติธรรม สายพันธุ์ที่พบมีทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ สายพันธุ์ B โดย สนอ. ได้เตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สนับสนุนให้กับคนไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายในประชาชนคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้น ไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี) เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ ผู้ที่มีโรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ (ซึ่งจะรณรงค์ฉีดช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค.)
ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง สนอ. ได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้ประชาชนทุกกลุ่มเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และเข้ารับการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรค ซึ่งเชื้อไวรัสต่าง ๆ สามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น ตลอดจนให้คำแนะนำวิธีดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่และเชื้อโรคต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร