สำหรับผลงานที่ วว. ได้รับจากการประกวดดังกล่าวเป็นการบูรณาการวิจัยและพัฒนาระหว่าง วว. กับบริษัทอินโนบิก (เอเชีย) จำกัด มีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นนวัตกรรมโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยตัวแรก ที่ใช้เสริมการรักษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งได้รับยา metformin ชนิดเดียว โดยมีส่วนช่วยในการทำงานของเซลล์ตับอ่อนและชะลอภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทั้งนี้ผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ด้วยการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเภทยาความเสี่ยงต่ำ
อนึ่ง งาน Medical Innovation Hackathon 2025 จัดโดย ฝ่ายประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการผลิตนวัตกรรม (MIDAS) ภายใต้มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบัน เค อะโกร อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพให้สามารถบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพของไทย ผ่านแนวทางการประเมินความคุ้มค่าตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยมีนักพัฒนานวัตกรรมทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 152 ผลงาน ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา ชีววัตถุ อาหารเสริม และดิจิทัลแพลตฟอร์มทางการแพทย์ นับเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสร้างโอกาสในการนำเสนอผลงานต่อผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุน ที่พร้อมสนับสนุนให้โครงการต่างๆ เดินหน้าเข้าสู่ระบบสุขภาพ และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของนวัตกรไทย ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของระบบสาธารณสุขของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ วว. โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) มีศักยภาพและความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบครบวงจร (Research and Development, Innovation and Manufacturing : RDIM) ประกอบด้วยนักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์โพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นทาง (Upstream unit) ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับสัตว์ทดลอง จนถึงการศึกษาในระดับมนุษย์ (Clinical trial) ถึงระดับปลายทาง (Downstream unit) มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสากล ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือว่าเป็นสายการผลิตที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย