ทั้งนี้ กทม. ตระหนักถึงความปลอดภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่อับอากาศ (Confined Space) ที่อาจมีก๊าซพิษ เช่น ก๊าซมีเทน (CH?) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H?S) ที่เกิดจากกระบวนการสะสมของสารอินทรีย์ หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมอาจส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ จึงมีมาตรการป้องกันในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ระบายอากาศ เช่น เครื่องดูดอากาศหรือเครื่องเป่าลม เพื่อลดปริมาณก๊าซพิษก่อนการปฏิบัติงาน การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้แก่เจ้าหน้าที่ เช่น ชุดป้องกันสารเคมี ถุงมือยาง รองเท้าบูทกันน้ำ เชือกนิรภัย (Safety Harness) เพื่อช่วยดึงตัวพนักงานขึ้นในกรณีฉุกเฉินและการเฝ้าระวังพนักงานขณะปฏิบัติงาน โดยให้ทีมงานด้านบนเฝ้าสังเกตและพร้อมให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
นอกจากนี้ กทม. ยังมีแผนพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มงบประมาณการจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยให้ครบถ้วนและเพียงพอ การนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การใช้เครื่องจักรในการดูดไขมันและสิ่งปนเปื้อนแทนการใช้แรงงานคนในพื้นที่เสี่ยงสูง พัฒนาระบบเฝ้าระวังพนักงานระหว่างปฏิบัติงาน เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศในท่อแบบเรียลไทม์ และจัดอบรมพนักงานเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสม ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและบุคลากรสังกัด กทม. เพื่อให้มีการปฏิบัติงานที่ปลอดโรคปลอดภัย สามารถส่งมอบบริการที่ดีให้แก่ประชาชน โดยจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่สำนักงานเขตและหน่วยงานต้นสังกัดได้จัดสรร โดยเฉพาะคนงานกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมทั้งพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมาจากความไม่ตระหนัก ความไม่รู้ และได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดย สนอ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนและบุคลากรในสังกัดให้ปลอดโรค ปลอดภัย จึงได้จัดอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานให้แก่คนงานกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนงานสวนสาธารณะ คนงานกวาด คนงานเก็บขนมูลฝอย คนงานขุดลอกท่อ ทั้ง 50 สำนักงานเขต เป็นประจำทุกปี ขณะเดียวกัน ยังได้ลงพื้นที่เขตเพื่อให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จัดอบรมส่งเสริมความรู้ให้แก่หัวหน้าคนงาน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถกำกับดูแลให้คนงานปฏิบัติงานได้ปลอดโรคปลอดภัย สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งมุ่งหวังให้บุคลากรของหน่วยงานราชการปลอดโรค ปลอดภัยในการทำงาน
ที่มา: กรุงเทพมหานคร