SCB FM มอง Fed ลดดอกเบี้ยกลางปีจากเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าได้ แต่ Tariffs อาจดันเงินเฟ้อและกดดันบาทอ่อนระยะสั้น

พฤหัส ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๖:๐๘
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงดอกเบี้ยที่ 4.25-4.50% ตามคาด อย่างไรก็ดี แม้ Fed จะพยายามส่งสัญญาณว่าความไม่แน่นอนมากขึ้นและเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ตลาดกลับให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้มีมากขึ้น โดย Price-in ที่ราว 75 bps ซึ่งมากกว่าที่ Fed สื่อสารใน Dot plot สำหรับมุมมองในระยะต่อไป SCB FM ยังคงมุมมองเดิมว่า Fed อาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยการลดครั้งแรกอาจเป็นการประชุมเดือน มิ.ย. และอาจลดอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 32.50-33.50 เนื่องจาก เริ่มเห็นสัญญาณที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนขึ้น ขณะที่นโยบายการคลังในยุโรปมีมากขึ้น ทำให้เริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากสหรัฐฯ เข้ายุโรปมากขึ้น เงินยูโรจึงมีแนวโน้มแข็งค่า กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อ และเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้
SCB FM มอง Fed ลดดอกเบี้ยกลางปีจากเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าได้ แต่ Tariffs อาจดันเงินเฟ้อและกดดันบาทอ่อนระยะสั้น

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.25-4.50% และยังส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเท่าเดิมคือ ลด 50 bps ในปี 2025 มาอยู่ที่ 3.9% ลด 50 bps ในปี 2026 มาอยู่ที่ 3.4% และลดอีก 25 bps ในปี 2027 มาอยู่ที่ 3.1% อีกทั้ง คงประมาณการดอกเบี้ยในระยะยาว (Long-run neutral rate) ที่ 3.0% แม้ Dot plot จะยังคงเดิม แต่การกระจายของจุด (Distribution) สะท้อนว่า Fed มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยลง โดยหากมีกรรมการโหวตลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 50 bps เพิ่มอีก 2 คน ก็จะทำให้ Median dot plot ในปีนี้ขยับขึ้นเป็นเหลือลดดอกเบี้ยเพียง 25 bps อย่างไรก็ดี แม้ Fed จะพยายามสื่อสารว่าความไม่แน่นอนมากขึ้น และเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ตลาดกลับให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น จึงสะท้อนว่าตลาดยังไม่เชื่อการประเมินเศรษฐกิจของ Fed นัก โดยหลังการประชุมล่าสุด ตลาด Fed fund futures สะท้อนว่า Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ย 65 bps ในปีนี้ สูงขึ้นจากก่อนประชุมที่ราว 60 bps ขณะที่ตลาด interest rate swap (OIS) สะท้อนว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยถึง 75 bps (เทียบเท่า 3 ครั้ง) ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่ Fed ส่งสัญญาณใน Dot plot ที่ 50 bps

SCB FM ยังคงมุมมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยการลดครั้งแรกอาจเป็นการประชุมเดือน มิ.ย. และอาจลดอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่4 ปีนี้ ทั้งนี้ หากทรัมป์ออกมาตรการ Tariffs ตามที่ขู่ไว้ และอัตราภาษี Effective tariffs สูงกว่า 20% ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อมากกว่าเศรษฐกิจ กล่าวคือ หากตัวเลขการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯ อาจชะลอลงไม่มากนัก และอัตราว่างงานยังต่ำกว่า 4.4% แต่ถ้าเงินเฟ้อ (Core PCE) เร่งตัวไปแตะ 3% ก็อาจทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยช้ากว่าและน้อยกว่าที่คาดได้

สำหรับการประเมินเศรษฐกิจ Fed ปรับประมาณการเศรษฐกิจลง โดยมอง GDP ปีนี้โตเพียง 1.7% (จากเดิมที่มอง 2.1%) และยังปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2026 และ 2027 ลงเหลือ 1.8% โดยนาย เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวว่าความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจอาจโตชะลอลง นอกจากนี้ Fed ปรับประมาณการเงินเฟ้อขึ้นจากความเสี่ยงเรื่องนโยบายภาษีนำเข้า โดยมองเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ในปีนี้ที่ 2.8% (จากเดิมที่มอง 2.5%) แต่คงมุมมองเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2026 และ 2027 ไว้เท่าเดิมที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ด้านอัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ โดย Fed มองว่า ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 4.4% (จากเดิมที่มอง 4.3%) แต่คงมุมมองอัตราว่างงานในปี 2026 และ 2027 ไว้เท่าเดิมที่ 4.3% สำหรับงบดุล Fed จะชะลอการปรับลดลง (Quantitative tightening: QT) จากเพดานเดิมที่ 25 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน เหลือ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน

สำหรับ Markets' reaction หลังผลการประชุม พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับลดลงราว 7-10 bps โดย Yields ระยะสั้นอายุ 2 ปี ลดลงมากกว่า yields ระยะยาวอายุ 10 ปี ส่วนดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น

ในระยะสั้นนี้ เงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 33.50-34.00 โดยพบว่าในช่วงที่ผ่านมา แรงกดดันด้านแข็งค่าเริ่มมีมากขึ้น แต่เงินบาทยังไม่ทะลุแนวรับสำคัญที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ตลาดยังไม่เชื่อมั่นกับการประกาศนโยบาย Tariffs ของทรัมป์มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมามักมีการประกาศ แต่ก็เลื่อนการบังคับใช้หรือให้ข้อยกเว้นในสินค้าบางกลุ่ม ทำให้ Reactions ในตลาดการเงินเริ่มลดลงเป็นลำดับ อีกทั้ง ยังพบว่า ธปท. เข้าดูแลค่าเงินบาทในบางจังหวะ ทำให้ความผันผวนของเงินบาทไม่มากนัก สำหรับในระยะกลางถึงยาว คาดว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 32.50-33.50 เนื่องจาก เริ่มเห็นสัญญาณที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในตัวเลขฝั่ง Soft data เช่น PMI และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่เริ่มลดลง ทำให้ตลาดบางส่วนกังวล Recession risk จึงเริ่มเห็นเงินไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชัดเจนขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า โดยในระยะต่อไป มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อได้ พร้อมกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ดอลลาร์จะอ่อนลงต่อ นอกจากนี้ นโยบายการคลังในยุโรปที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ายุโรปมากขึ้น เงินยูโรจึงแข็งค่า กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อ เงินบาทจึงมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะกลางถึงยาวได้

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกยังมีอยู่มาก ซึ่งอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าในบางจังหวะ เช่น การประกาศมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่มองว่า ณ ขณะนี้ ตลาดยังไม่ได้ Price-in เข้าไปในราคาทั้งหมด อาจทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้น กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเหนือ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ หรือการประกาศ Tariffs ในบางกลุ่มสินค้า เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนตร์ และยา ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและกดดันบาทอ่อนได้ นอกจากนี้ ปัจจัยในประเทศ เช่น ภาวะการเงินที่ตึงตัว และความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่ม SMEs และผู้มีรายได้ต่ำ อาจทำให้ กนง. ลดดอกเบี้ยเหนือคาด ซึ่งกดดันให้บาทอ่อนค่ากว่าที่ประเมินได้เช่นกัน

ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์

SCB FM มอง Fed ลดดอกเบี้ยกลางปีจากเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าได้ แต่ Tariffs อาจดันเงินเฟ้อและกดดันบาทอ่อนระยะสั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. ดร.ฤกขจี กาญจนพิทักษ์ ได้รับรางวัล Best Women CEO in Strategic Leadership - Healthcare
๒๘ มี.ค. ฉลองสงกรานต์และอีสเตอร์สุดชิคในเดือนเมษายนนี้ที่โรงแรม โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท
๒๘ มี.ค. เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ชวนน้องฉัตร เนรมิตความมั่นใจในคลาสสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ส่งต่อพลัง #EmpowerHER ฉลองเดือนสตรีสากล
๒๘ มี.ค. พาราไดซ์ พาร์ค มุ่งยกระดับประสบการณ์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่จากเดิม สู่การเป็น Health Wellness Destination เติมเต็มทุกความต้องการด้านสุขภาพและทุกไลฟ์สไตล์เพื่อชีวิตที่ดีของทุกคน
๒๘ มี.ค. เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เยี่ยมชม เลอโนท ประเทศไทย พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปสุดพิเศษ ศิลปะการทำเวียนนัวเซอรี่ มาสเตอร์คลาส กับเชฟมิกาแอล
๒๘ มี.ค. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดเวทีประชัน HT MAKEUP GRAND COMPETITION 2025 ปี 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการแต่งหน้าเสริมบุคลิกภาพให้นักศึกษา
๒๘ มี.ค. สคล. ผนึกกำลังชุมชน รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า ต่อเนื่อง พุ่งเป้า ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มุ่งสร้างสังคมสุขภาวะ
๒๘ มี.ค. NER สานต่อโครงการ NER สนับสนุนวิถีเกษตรยั่งยืน ปี2
๒๘ มี.ค. Readyplanet โชว์ศักยภาพผู้นำด้าน MarTech และ CRM Platform ในงาน MARTECH EXPO 2025
๒๘ มี.ค. Round 2 Solutions ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน CRM ด้วย AI อัจฉริยะ ในงาน Salesforce AI Evolution 2025