ด้าน นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่ามีเด็กแรกเกิดเพียงร้อยละ 29.4 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 28.6 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และยังมีเด็กเพียงร้อยละ 18.7 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ที่กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก เพื่ออนาคตของประเทศไทย โดยในปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้แม่ที่ต้องทำงาน ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมา กรมอนามัย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บริษัทขนส่ง จำกัด บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัทนครชัยแอร์ จำกัด และบริษัทเอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ได้ร่วมมือกันส่งเสริมให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามต้องการ โดยให้แม่ ที่ทำงานต่างจังหวัด สามารถส่งนมแม่ข้ามจังหวัด เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย ในการขนส่งนม และยังช่วยชะลอการเปลี่ยนเป็นนมผงทดแทนนมแม่ได้อีกด้วย ซึ่งการจัดทำโครงการฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการให้บริการขนส่งนมแม่ฟรี ระหว่างปี 2563 - 2567 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 6,595 ราย และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ที่ต้องทำงาน ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จึงได้จัดโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2571 สำหรับครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเพิ่มจากภาคี อีก 3 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด
"บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ทำขึ้น เพื่อสนับสนุนการขนส่งนมแม่ โดยไม่มีคิดค่าใช้จ่ายผ่านโครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก อีกทั้งเป็นกรอบความตกลงทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน และดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกัน โดยมิได้มุ่งหวังให้มีผลบังคับผูกพันทางกฎหมายระหว่างกัน ซึ่งจะมุ่งเน้นการเพิ่มช่องทางการส่งนมแม่ ในกลุ่มแม่ที่ทำงานในจังหวัดที่ห่างไกลลูก ลดปริมาณการใช้นมผสมสำหรับทารก ในกรณีที่แม่ต้องกลับไปทำงานในจังหวัดที่ห่างไกลลูก และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน อย่างน้อยร้อยละ 50" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นี้ ในอนาคตจะมีการผลักดันให้นำกล่องเก็บความเย็นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ตลอดเส้นทาง อีกทั้งสนับสนุนและผลักดันโครงการให้เป็นนโยบายระดับชาติ รวมถึงเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เพื่อเก็บรักษาคุณภาพนมแม่ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความช่วยเหลือในการจัดเก็บและรับส่งนมต่อไป
สำหรับคุณแม่หรือผู้สนใจต้องการสอบถามแนวทางการขนส่งนมแม่ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ
ที่มา: ซี.เอ.อินโฟมีเดีย