นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจารระร่วง พบได้ทุกกลุ่มอายุ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 68 พบผู้ป่วย 26,235 รายและไม่พบผู้เสียชีวิต อาหารเป็นพิษ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ต้นปี 68 พบผู้ป่วย 2,424 รายและไม่พบผู้เสียชีวิต และโรคอหิวาตกโรค พบผู้ป่วย 3 รายและไม่พบผู้เสียชีวิต สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ผลิตอาหาร และผู้สัมผัสอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องสุขาทุกครั้ง โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้เตรียมพร้อมวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team, SRRT) เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรค พร้อมทั้งจัดทำหนังสือแจ้งเตือนโรคฤดูร้อนและขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์โรคที่เกิดในช่วงฤดูร้อน และจัดส่งให้ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต และประชาชนผู้สนใจ
ทั้งนี้ สนอ. ได้ให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนทั้งเชิงรับในศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง สถานพยาบาล และเชิงรุกในชุมชน โดยออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ทุกสัปดาห์ เพื่อให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และในช่วงอากาศร้อนจัดจะแนะนำให้กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อน โดยวันที่อากาศร้อนจัดให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เน้นย้ำให้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำสะอาดสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มแสดงว่าร่างกายขาดน้ำให้ดื่มน้ำทันที สวมเสื้อผ้าสีอ่อน มีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดี ส่วนผู้ที่รับประทานยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยาดังกล่าวอาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้ง สนอ. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์และป้ายประชาสัมพันธ์ (Kiosk) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง
ที่มา: กรุงเทพมหานคร