ไทยพีบีเอส จับมือ we!park ภาคีเครือข่าย ผลักดันนโยบาย "ขยับท้องถิ่น ขยายเมืองสุขภาวะ" ยกระดับคุณภาพชีวิต

พุธ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๕:๑๒
The Active - Policy Watch Thai PBS จับมือ กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่าย จัด Policy Forum "ขยับท้องถิ่น ขยายเมืองสุขภาวะ" ขับเคลื่อนนโยบาย สร้างสรรค์เมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีส่วนร่วมยั่งยืน
ไทยพีบีเอส จับมือ we!park ภาคีเครือข่าย ผลักดันนโยบาย ขยับท้องถิ่น ขยายเมืองสุขภาวะ ยกระดับคุณภาพชีวิต

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับกลุ่ม we!park และองค์กรเครือข่ายด้านการพัฒนาเมืองและพื้นที่สุขภาวะ จัด Policy Forum "ขยับท้องถิ่น ขยายเมืองสุขภาวะ: ขับเคลื่อนนโยบาย สร้างสรรค์เมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีส่วนร่วม" ณ ลาน EM Glass/EM Yard ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ภายในงาน Active City Forum : Activate City for Healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ด้วยเราทุกคน

นางสาวนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางสาวนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเป็น 1 ในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะโดย สสส. ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ครอบคลุมหลายมิติร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผ่านกระบวนการที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของตนเองกลายเป็นโมเดลต้นแบบที่สามารถขยายผลได้จริงในระดับชุมชน ระดับประเทศ

รศ. ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) กล่าวว่า ถ้าเมืองดีชีวิตก็ดีด้วย แต่ปัญหาสำคัญคือเราจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร การมีเมืองที่ดีช่วยให้ชีวิตของเราดีด้วยรัศมีของการใช้ชีวิตที่ผูกโยงกับพื้นที่ต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทบทวนวรรณกรรม ความยืนยาวของชีวิตที่มีคุณภาพที่ดี พบว่า การมีเมืองสุขภาวะที่ทุกคนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้อย่างกระฉับกระเฉง เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ดี จะมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าคนที่อยู่ในเมืองที่ไม่ดี อย่างน้อย 10 ปีสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ 1. ทำชีวิตคนให้ผูกติดกับละแวกบ้านให้ได้ 2.) ทำเรื่องของขนส่งสาธารณะให้ดี 3.) ทำเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้พร้อม 4.) ทำเรื่องของการเชื่อมต่อคนให้เข้าถึงพื้นที่สุขภาวะอย่างเท่าเทียม และ 5.) ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบผังเมือง ให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

นายยศพล บุญสม หัวหน้ากลุ่ม we!park กล่าวว่า การคืนข้อมูลเมืองสุขภาวะตลอดช่วงเวลาการจัดงานทั้ง 3 วัน มีโมเดลจาก 5 ประเทศที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกัน ทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จจะมีความเข้าใจร่วมกันและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สำหรับประเทศไทย ที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและยะลา สะท้อนได้ชัดเจนว่า การพัฒนาที่เชื่อมเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้บริบทของท้องถิ่นที่เข้มแข็งจะสามารถทำให้เมืองเติบโตไปได้ด้วยตัวของตัวเองอย่างมีสุขภาวะ แต่หากท้องถิ่นใดผู้นำขาดวิสัยทัศน์ ขาดกลไก เครื่องมือ ก็จะทำให้เมืองนั้นไม่เติบโตเช่นกัน

"สิ่งที่ทุกที่ในโลกเริ่มเหมือนกันคือ ทุนทางพื้นที่ และผู้คน เกิดการแลกเปลี่ยน ทำซ้ำ การทำงานตรงนี้ไม่มีเส้นชัยแต่จุดมุ่งหมายต้องเป็นกราฟที่พุ่งขึ้น มีการประสานงานจับมือไปด้วยกัน ที่สำคัญคือความเข้าใจเรื่องไลฟ์สไตล์ ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คุณป้าที่ขี่จักรยาน ต้องเข้าใจเรื่องนี้ว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิทธิของทุกคนที่จะใช้ชีวิตและร่วมกระบวนการเปลี่ยนเมืองด้วยกัน" นายยศพล กล่าว

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แลกเปลี่ยนแสดงวิสัยทัศน์ เป้าหมายการขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ ว่า การพัฒนาพื้นที่ ยกตัวอย่างทางเท้า มีหน่วยงานที่ดูแลในกรุงเทพมหานคร ถึง 13 หน่วยงาน ในปีนี้กทม. มีการปรับปรุงพื้นที่ทางเท้า แต่ปีหน้าหน่วยงานอื่นอาจมีการปรับปรุงนำสายไฟลงดิน ทำให้ต้องมีการรื้อทางเท้าขึ้นใหม่อีก เพราะแต่ละหน่วยงานได้งบประมาณไม่พร้อมกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ

  1. การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่ทำให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้น
  2. การสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมา กทม. ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและการเรียนรู้ แต่หลายพื้นที่ประชาชนไม่ได้เข้ามาใช้งาน หัวใจจึงไม่ใช่การสร้างพื้นที่แต่สร้างกระบวนการให้คนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่ม
  3. การสร้างเมืองสุขภาวะที่เป็นของทุกคน ไม่ใช่ชนชั้นกลางอย่างเดียว แต่คำนึงถึงเศรษฐกิจฐานรากเอื้อให้เกิดรายได้ เป็นเมืองสุขภาวะอย่างครบวงจร

ด้าน รศ. ดร.วิชัย กาญจนสวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า เมืองหาดใหญ่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยว กรีนซิตี้ สมารท์ซิตี้ และเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเทศบาลฯ ได้ร่วมกับ สสส. และศูนย์ศึกษาเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในการศึกษาข้อมูล 18 ชุมชน โดยให้ชุมชนเก็บข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลชุมชนที่เป็นประโยชน์และจะขยายครอบคลุมชุมชนทั้งหมด 103 ชุมชน และร่วมมือกับนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในการสำรวจลงพื้นที่สร้างกระบวนการรับรู้และตระหนักเข้าใจสิทธิ และความต้องการของพื้นที่ มีการออกแบบปรับปรุงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ โดยเริ่มจาก "ลานซีกิมหยง" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองเทศบาลนครหาดใหญ่ สำหรับการทำงานก็มีปัญหาการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเหมือนประสบการณ์ที่กรุงเทพมหานครเจอ อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า พลังของชุมชนและเทคโนโลยี จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน

จากนั้นเป็นวงกระบวนการแลกเปลี่ยน "What Next นโยบายการพัฒนาเมืองสุขภาวะของประเทศไทย" โดยนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคม และไทยพีบีเอสให้ความสำคัญ ที่ผ่านมา เราได้ร่วมกันกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนในเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นในงาน เสวนา Park Policy ในกิจกรรม "พัก กะ Park พาร์คสร้างสุข เพื่อสุขภาวะ" ที่มองนิยามของส่วนเกินกว่าขอบเขต "พื้นที่สีเขียว" ไปสู่ "พื้นที่ สาธารณะ" จนกระทั่งครั้งนี้ เราได้ชักชวนท้องถิ่นที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศ และจะมีการร่วมมือผลักดันนโยบายที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำเสนอใน Active City Forum ทั้งหมดได้รวบรวมไว้ที่แพลตฟอร์ม "Policy Watch" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ พร้อมทั้งเชื่อมโยงทุกมิติ ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.thaipbs.or.th/PolicyWatch

ที่มา: ส.ส.ท.

ไทยพีบีเอส จับมือ we!park ภาคีเครือข่าย ผลักดันนโยบาย ขยับท้องถิ่น ขยายเมืองสุขภาวะ ยกระดับคุณภาพชีวิต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๒ สธ. - ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีสุขภาวะที่ดี
๑๖:๓๓ BeNice ปล่อยไอเท็มล่าสุด! รับซัมเมอร์ BeNice Antibac Shower Cream สูตรใหม่ล่าสุด Active Shield พลังการปกป้องขั้นสุด อาบสะอาด สดชื่นตลอดวัน
๑๖:๐๐ กลุ่มเซ็นทรัล เตรียมเปิดตัว 'deCentral' ศูนย์กลางศิลปะใหม่แห่งเอเชีย พร้อมโครงการทุนสนับสนุนการผลิตผลงานศิลปะเพื่อศิลปินไทย
๑๖:๓๐ A5 ยืนยันทุกโครงการปลอดภัย ไร้ผลกระทบแผ่นดินไหว เสริมมาตรการดูแล ยกระดับความปลอดภัย - คุณภาพชีวิตลูกบ้าน
๑๕:๕๐ เป๊ปซี่(R) ประกาศรางวัล สุดยอดร้านอาหารเป๊ปซี่มิตรชวนกินแห่งปี 2025 ครั้งแรก เผยรายชื่อ 60 สุดยอดร้านเด็ดทั่วไทย การันตีความอร่อยโดยมิตรที่รู้จริง ในงาน #GrabThumbsUp Awards
๑๕:๕๙ ดีอี - ไปรษณีย์ไทย หนุนระบบขนส่งคุณภาพ ชวนเกษตรกรใช้บริการ EMS ส่งด่วนผลไม้ พร้อมอัดหลากมาตรการช่วย เสริมศักยภาพการกระจายสินค้าเกษตร
๑๕:๐๘ วิธีสังเกตยาหมดอายุ มีอะไรบ้าง ยาแบบไหนไม่ควรทานต่อแล้ว
๑๕:๓๙ ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ กับกิจกรรมพิเศษ ตลอดเดือนเมษายนนี้ ที่ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
๑๕:๒๒ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชวนผู้ประกอบการไทยสร้างร้านค้าออนไลน์ เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจแบบยั่งยืน
๑๕:๐๖ วว. คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมการสื่อสารสร้างสรรค์ Commu Max Competition