มจธ. คิดค้น "นวัตกรรมการผลิตซิลิกาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ" ต้นทุนต่ำ คุณภาพสูง พร้อมพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย

พฤหัส ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๘ ๐๙:๑๗
นักวิจัย มจธ.พัฒนากระบวนการผลิต ไบโอซิลิกา (Biosilica) จากแกลบข้าว ด้วยกระบวนการชีวภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไร้สารเคมีตกค้าง พร้อมส่งต่อเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง เวชสำอาง ยา และยาง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาซิลิกานำเข้า และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ
มจธ. คิดค้น นวัตกรรมการผลิตซิลิกาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ต้นทุนต่ำ คุณภาพสูง พร้อมพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย

ซิลิกา (Silica) เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมของไทย ตั้งแต่ยางรถยนต์ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง ทำให้มีความต้องการใช้สูงมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถผลิตได้เพียง 40% ของความต้องการ ส่วนที่เหลือยังต้องนำเข้าด้วยต้นทุนที่สูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาแหล่งผลิตซิลิกาภายในประเทศจึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการพึ่งพาการนำเข้า สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก

จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ ผศ. ดร.สิริลักษณ์ เจียรากร อาจารย์ประจำคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนากระบวนการสกัดไบโอซิลิกาบริสุทธิ์สูงจากแกลบข้าว ด้วยเทคนิคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไร้สารเคมีตกค้าง เพื่อนำของเหลือจากภาคการเกษตรอย่างแกลบซึ่งมีปริมาณมหาศาลมาเพิ่มมูลค่าเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูง โดยแกลบข้าวเป็นวัสดุที่มีซิลิกาสูงถึง 20-25% ทำให้ได้รับความสนใจในเชิงอุตสาหกรรมมานาน แต่วิธีการสกัดซิลิกาแบบดั้งเดิมมักใช้กระบวนการเผาที่อุณหภูมิสูงร่วมกับสารเคมีเข้มข้น เช่น กรดไฮโดรคลอริก กรดซัลฟิวริก และกรดไนตริก แม้ว่าจะให้ซิลิกาบริสุทธิ์สูง แต่ก็มีข้อเสียในแง่ของการใช้พลังงานสูง สารเคมีตกค้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผศ. ดร.สิริลักษณ์ เล่าว่า เป้าหมายหลักคือการพัฒนา Green Silica Extraction หรือกระบวนการสกัดไบโอซิลิกาที่ลดการใช้พลังงานและเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ทำให้ได้ซิลิกาบริสุทธิ์สูงแต่ไม่สร้างมลพิษ โดยการใช้กระบวนการทางชีวภาพแทนสารเคมี ด้วยวิธีการหมักแกลบด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ ซึ่งทำให้ได้ซิลิกาที่มีความบริสุทธิ์สูงถึง 96-97% ปราศจากสารเคมีตกค้าง กระบวนการนี้เริ่มจากการเอาแกลบมาหมักกับจุลินทรีย์ พด.1 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชีวภาพที่กรมพัฒนาที่ดินแจกให้กับเกษตรกร ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในแกลบตามธรรมชาติ พอหมักได้ที่แล้วก็นำไปล้างและเผาที่อุณหภูมิควบคุม ทำให้ได้ไบโอซิลิกาออกมาเป็นผงละเอียด ขนาดอนุภาคอยู่ที่ 60-200 ไมครอน และมีพื้นที่ผิวประมาณ 148 ตารางเมตรต่อกรัม ซึ่งตรงตามมาตรฐานที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเวชสำอาง ที่ต้องการวัตถุดิบปลอดภัยสูง

ผศ. ดร.สิริลักษณ์ กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตซิลิกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไบโอซิลิกาที่สกัดได้มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพียง 0.17 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO?e) ซึ่งต่ำกว่ากระบวนการผลิตซิลิกาแบบดั้งเดิมถึง 30 เท่า นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เฉลี่ยประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม (ในระดับนำร่อง) แต่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องการซิลิกาเกรดสูง เช่น เครื่องสำอางและเวชสำอาง ซึ่งในตลาดปัจจุบันมีราคาขายอยู่ที่ 1,000-3,000 บาทต่อกิโลกรัม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกระบวนการนี้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หากประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม จะช่วยลดการนำเข้าซิลิกาจากต่างประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก

ปัจจุบัน งานวิจัยนี้อยู่ในขั้นตอนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน โดยมีการพัฒนารูปแบบการผลิตในระดับนำร่อง (Pilot Scale) ซึ่งสามารถขยายสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ทันที โรงงานที่สนใจสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตของตนได้ โดยอาศัยเครื่องจักรที่มีอยู่แล้ว เช่น เตาเผาและหม้อหมัก ทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มมากนัก นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ซิลิกาจากแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ด้วยผลผลิตมากกว่า 30 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้มีแกลบเหลือใช้สูงถึง 8 ล้านตันต่อปี หากสามารถนำแกลบเพียง 10% มาใช้ประโยชน์ จะสามารถผลิตไบโอซิลิกาได้มากถึง 200,000 ตันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการลดการนำเข้าและรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างเครื่องสำอาง เภสัชกรรม และอุตสาหกรรมยาง

จุดเด่นของเทคโนโลยีการสกัดไบโอซิลิกานี้คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนการผลิตต่ำ และช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ถึง 30 เท่า ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตไบโอซิลิกาในภูมิภาคเอเชีย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ สอดคล้องกับ แนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศกำลังมุ่งหน้าไป

หากผู้ประกอบการสนใจนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอคำปรึกษาได้ที่ ดร.อมรรัตน์ วัฒนล้ำเลิศ หน่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี มจธ. อีเมล : [email protected]. โทร. 0 2-470- 9626

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มจธ. คิดค้น นวัตกรรมการผลิตซิลิกาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ต้นทุนต่ำ คุณภาพสูง พร้อมพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. ดร.ฤกขจี กาญจนพิทักษ์ ได้รับรางวัล Best Women CEO in Strategic Leadership - Healthcare
๒๘ มี.ค. ฉลองสงกรานต์และอีสเตอร์สุดชิคในเดือนเมษายนนี้ที่โรงแรม โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท
๒๘ มี.ค. เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ชวนน้องฉัตร เนรมิตความมั่นใจในคลาสสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ส่งต่อพลัง #EmpowerHER ฉลองเดือนสตรีสากล
๒๘ มี.ค. พาราไดซ์ พาร์ค มุ่งยกระดับประสบการณ์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่จากเดิม สู่การเป็น Health Wellness Destination เติมเต็มทุกความต้องการด้านสุขภาพและทุกไลฟ์สไตล์เพื่อชีวิตที่ดีของทุกคน
๒๘ มี.ค. เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เยี่ยมชม เลอโนท ประเทศไทย พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปสุดพิเศษ ศิลปะการทำเวียนนัวเซอรี่ มาสเตอร์คลาส กับเชฟมิกาแอล
๒๘ มี.ค. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดเวทีประชัน HT MAKEUP GRAND COMPETITION 2025 ปี 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการแต่งหน้าเสริมบุคลิกภาพให้นักศึกษา
๒๘ มี.ค. สคล. ผนึกกำลังชุมชน รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า ต่อเนื่อง พุ่งเป้า ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มุ่งสร้างสังคมสุขภาวะ
๒๘ มี.ค. NER สานต่อโครงการ NER สนับสนุนวิถีเกษตรยั่งยืน ปี2
๒๘ มี.ค. Readyplanet โชว์ศักยภาพผู้นำด้าน MarTech และ CRM Platform ในงาน MARTECH EXPO 2025
๒๘ มี.ค. Round 2 Solutions ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน CRM ด้วย AI อัจฉริยะ ในงาน Salesforce AI Evolution 2025