ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. เป็น "ขุมพลังหลักของประเทศ" ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน หรือ S&T Implementation for Sustainable Thailand ด้วยตระหนักดีว่า วทน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ
การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NSTDA Annual Conference: NAC) จึงเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่ สวทช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอความก้าวหน้าทาง วทน. ที่ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน"(AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนาด้าน AI แนวทางการบูรณาการเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้สังกัด สวทช. ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC, NANOTEC และ ENTEC เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อรองรับความต้องการตลาดแรงงานและสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสอดคล้องกับนโยบาย อว.For AI ของกระทรวง อว.
"ในโอกาสนี้ สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 09.00-14.00 น." ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ทั้งนี้งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. หรืองาน NAC2025 ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่ สวทช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอความก้าวหน้าทาง วทน. ที่ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศ เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนาด้าน AI แนวทางการบูรณาการเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ ภายในงานมีการสัมมนาวิชาการ 35 หัวข้อ นิทรรศการผลงานวิจัยกว่า 100 บูธ แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI จาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม OPEN HOUSE เปิดห้องปฏิบัติการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ 2 วัน (26 และ 28 มีนาคม 2568) วันละ 9 เส้นทาง อาทิ กลุ่มเกษตรอัจฉริยะ, เครื่องสำอางเพื่ออนาคต, Wellness Tech และอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ กิจกรรมเยาวชนสามารถมาทดลองเล่นและเรียนรู้ได้ในงาน คือ หุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต NSTDA Micro-Mouse ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรม บนสนามจริง ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 และ 28 มีนาคม 2568 ตลอดวัน เป็นต้น
ที่มา: สวทช.