นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับระยะเฝ้าระวังสถานการณ์กรมอนามัย ขอให้ประชาชนยังคงเตรียมพร้อมรับมือเพื่อเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว 1) ติดตาม รับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมอพยพไปยังจุดที่ปลอดภัย 2) หมอบลงที่พื้นใต้โครงสร้างอาคารที่แข็งแรง เพื่อป้องกันสิ่งของจากเพดาน หรือ จากที่สูงหล่นใส่ กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้าน 3) รีบปิดแก๊สทันที หากเปิดแก๊สปรุงประกอบอาหาร 4) ห้ามใช้ลิฟต์ ให้ใช้บันไดหนีไฟ เพื่ออพยพออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน 5) ออกห่างจากหน้าต่าง และประตูที่เป็นกระจก เพื่อป้องกันอันตราย 6) อยู่ในพื้นที่โล่ง ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าโดยรอบ กรณีอยู่นอกอาคาร และ 7) เตรียมสิ่งของจำเป็น เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาอาการประจำตัว ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือที่ชาร์ตแบตเตอรี่เต็ม น้ำดื่ม เป็นต้น เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวสิ้นสุดลง ขอให้ประชาชนตรวจสอบรอยร้าวอาคาร บ้านเรือน ผนัง กระจก ตรวจสอบลิฟต์ ให้ลิฟต์วิ่งขึ้นลงจากล่างสุดถึงบนสุด เพื่อตรวจว่ามีการติดขัดหรือมีความสั่นสะเทือนผิดปกติ ตรวจสอบท่อน้ำประปา ถังแก๊ส ว่ามีการรั่วซึมหรือ มีกลิ่นแก๊สรั่ว รวมทั้ง ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
ที่มา: กรมอนามัย